คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์ www.arjanram.com

คติความเชื่อเรื่อง “พญานาคกับศาสนา” มีให้เห็นทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ในศาสนาพราหมณ์ “พญานาค” มีความสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นบัลลังก์ขององค์พระวิษณุในไวกูณฑ์ ที่เรียกว่า “วิษณุอนันตศายินปัทมะนาภะ” หรือ “นารายณ์บรรทมสินธุ์” หรือเรื่องราวของนาคที่เป็นศัตรูกับพญาครุฑ ใน “ครุฑปุราณะ” ตลอดจนการกล่าวถึงนาคในปุราณะต่างๆ

สำหรับพุทธศาสนา “พญานาค” ดูจะเกี่ยวพันเป็นอย่างมาก เพราะหากพิจารณาอาคารสถาปัตย กรรมทางศาสนาแล้ว จะพบเห็นเค้าเงื่อนที่ “พญานาค” ทำหน้าที่ปกป้องดูแลพระศาสนาอย่างเอาจริงเอาจัง เช่น การทำช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ เป็นรูปพญานาคเลื้อยลงมา การทำคันทวยเป็นรูปนาค เรียกกันว่า “นาคทัณฑ์” ล้อมรอบอุโบสถวิหารไว้ หรือ “นาคสะดุ้ง” ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได ตามความเชื่อเรื่อง “บันไดนาค” ตอนพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์ เป็นต้น

ถ้าได้ศึกษา “พุทธประวัติ” ก็จะเห็นได้ว่ามีเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับ “พญานาค” อยู่หลายช่วงหลายตอน อันอาจเป็นที่มาของความเชื่อถือและการ เกี่ยวพันของ “พญานาค” กับ “พุทธสถาน” ดังกล่าวข้างต้น อาทิ

…เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงตัดสินพระทัยเลิกกระทำทุกรกิริยา และนางสุชาดานำข้าวปายาสไปถวาย หลังจากเสวยหมดแล้วได้ทรงนำถาดทองไปลอยในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดทองได้ลอยทวนกระแสน้ำไปประมาณ 80 ศอก พอถึงวนแห่งหนึ่งก็จมลงไปยังที่อยู่แห่ง “พญากาฬนาคราช” ผู้มีอายุมากและหลับอยู่เป็นนิตย์ จะตื่นต่อเมื่อได้ยินเสียง “ถาดทอง” ที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงลอยลงไปกระทบกับถาดที่มีอยู่เดิม ตามประวัติว่ามีอยู่แล้ว 3 ถาด เป็นของพระพุทธกุกกุสันธ 1 พระพุทธโกนาคมน์ 1 และพระพุทธกัสสป 1 แสดงว่า พญากาฬนาคราชได้พบพระพุทธเจ้ามาแล้ว 3 พระองค์ ซึ่งจะตื่นอีกครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 และจะมีอายุยืนต่อไป

…คราหนึ่ง พญานาคตนหนึ่งได้นั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้วเกิดศรัทธา จึงแปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา อยู่มาวันหนึ่งได้เข้าจำวัดในตอนกลางวัน ช่วงจำวัดนั้นมนต์ได้เสื่อมลงจึงกลายร่างเป็นงูใหญ่จนพระภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้า ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบ จึงให้พระภิกษุนาคนั้นสึกออกไป เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉานไม่สามารถบวชในพระพุทธศาสนาได้ นาคตนนั้นผิดหวังมากจึงขอถวายคำว่า “นาค” ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน จึงได้เรียกการบวชขั้นตอนแรกว่า “บวชนาค” จากนั้นมาพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไม่ให้สัตว์เดรัจฉานบวชอีกเป็นอันขาด ดังนั้นก่อนที่พระอุปัชฌาย์จะอุปสมบทให้แก่ผู้ขอบวชจะต้องถาม “อันตรายิกธรรม (ข้อขัดข้อง)” ที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้รวม 8 ข้อเสียก่อน หนึ่งในนั้นก็คือ “ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า”

…ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์เสด็จพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 รูป เพื่อไปยังเทวโลก ได้ผ่านวิมานของเหล่าพญานาค มี “นันโทปนันทนาคราช” เป็นประธาน กำลังมีการรื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน เมื่อเห็นคณะสงฆ์ผ่านไปเหนือวิมานจึงโกรธมาก ตรงไปยังเขาพระสุเมรุแปลงตนเป็นนาคขนาดใหญ่พันโอบเขาพระสุเมรุถึง 7 รอบ แล้วแผ่พังพานบังชั้นดาวดึงส์เอาไว้ เพื่อไม่ให้พระพุทธองค์และพระสงฆ์ผ่านไปได้ พระโมคคัลลานะตามเสด็จไปด้วยจึงอาสาปราบ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาต ในที่สุด นันโทปนันทนาคราชยอมพ่ายแพ้ต่ออิทธิฤทธิ์ของพระโมคคัลลานะและยอมให้พระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันต์ผ่านไปโดยดี ฯลฯ

ยังมีพุทธประวัติอีกหลายตอนที่มีการกล่าวถึง “พญานาค” อีกหลายตน ที่มีทั้งดีและร้าย แต่ด้วยพระบารมีแห่งพระพุทธองค์ ทรงสามารถ “ปราบ” และ “ปราม” ให้ “พญานาค” ทั้งหลายยอมสิโรราบหันมายอมรับนับถือในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงมีพญานาคมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ และยังมีปรากฏในบทสวดมนต์หลายบทเช่น “บทสวดมนต์มหาสมัยสูตร” ก็ได้ออกชื่อพญานาคหลายพวก ซึ่งพร้อมด้วยเทวดามาฟังพระธรรมเทศนากันอย่างเนืองแน่น เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็แยกย้ายกันกลับวิมานของตน หรือ “บทขันธปริตร” อันเป็นมนต์ภาวนาให้พ้นจากการประทุษร้ายของงู ตลอดจนภูตผีปีศาจทั้งหลาย ตามคำแปลท้ายบทที่ว่า “เทพยดาและนาคทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์มาก ซึ่งสถิตอยู่ในอากาศก็ดี สถิตอยู่ในภาคพื้นก็ดี เทพยดาและนาคเหล่านั้นจะตามรักษาซึ่งท่านทั้งหลาย ด้วยความเป็นผู้ไม่มีโรคด้วยความสุข” เป็นต้น

ยังมี “พญานาค” สำคัญอีกตนหนึ่ง คือ “พญา มุจลินทนาคราช” ซึ่งเป็นมูลเหตุให้เกิด “พระพุทธรูปปางนาคปรก” ที่มีพุทธลักษณะงดงามสง่าและสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะได้กล่าวถึงในคราวต่อไปครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน