ไหว้พระเสริมสิริมงคลปีใหม่

พระพุทธชินราช

“พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก” เป็นพระพุทธรูปสำคัญ มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย

ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นด้านหน้าวัด ผินพระพักตร์ไปทางแม่น้ำ เป็นพระพุทธรูปที่มีส่วนสัดสมตามแบบประติมากรรม มีลักษณะงดงามมากองค์หนึ่งในประเทศไทย

ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงยกย่อง ว่า “งามหาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ เป็นพระพุทธประติมากรรมดีล้ำเลิศ ประกอบไปด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีสิริอันเทพยดาหากอภิบาลรักษา ย่อมเป็นที่สักการบูชานับถือแต่โบราณ”

ไหว้พระเสริมสิริมงคลปีใหม่

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว มีส่วนสูงตั้งแต่หน้าตักถึงพระเกศ 7 ศอก พระพักตร์ทรงรูปไข่ หรือเรียกว่า รูปหน้านาง ที่แสกพระพักตร์มีเครื่องหมายศูลประดับด้วยเพชร แสดงให้เห็นเป็นอุณาโลม

การสร้างใช้วิธีหล่อเป็นท่อนๆ ด้วยทองสำริดตลอดทั้งองค์ นิ้วพระพักตร์และพระบาทเสมอกัน แต่แรกสร้างนั้นยังไม่ได้ปิดทอง คงขัดเกลี้ยงแบบทองสำริดเท่านั้น

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างพระ พุทธชินราช ในปีใด แต่มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดาร คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท)

พระพุทธรูปนี้แสดงออกซึ่งความสงบเย็น ความมีสติปัญญา ความเมตตาอันหาที่เปรียบไม่ได้ ถือเป็นความอัศจรรย์ที่คนไทยเมื่อประมาณพันปีล่วงมาแล้วมีความสามารถอย่างสูงส่งที่สามารถนำเอาพุทธจริยาทั้งสามประการ คือ พระมหากรุณาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระปัญญาธิคุณ ซึ่งเป็นนามธรรม ถ่ายทอดเป็นรูปลักษณะของมนุษย์ที่ปั้นหล่อให้มองเห็นในความรู้สึก ส่วนลึกของผู้ที่ประสบพบเห็นได้เช่นที่ปรากฏในพุทธลักษณะของพุทธชินราชนี้

พระพุทธชินราช นอกจากเป็นพระปฏิมากรที่มีลักษณะงดงามอย่างยอดเยี่ยมแล้ว ยังเป็นพระพุทธรูปที่มีพระปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์อีกมากมายหลายอย่าง

ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่นิยมกราบไหว้ขอพร

หลวงพ่อวัดไร่ขิง

หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานเป็นที่เคารพกราบไหว้อยู่ ณ วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม คนในท้องถิ่นต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และมักกราบไหว้บนบานเมื่อมีทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น มีผ้าทิพย์ปูทอดลงมา ผินพระพักตร์สู่ทิศเหนือ องค์พระงดงาม เป็นการผสมผสานงานพุทธศิลป์ 3 สมัย คือ เชียงแสน อู่ทอง และสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใครสร้างขึ้นเมื่อไหร่

จากหนังสือประวัติของวัดระบุว่าเรื่องราวของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมราชานุวัตร

พื้นเพเป็นชาวนครชัยศรี เล่ากันเป็นสองนัยว่าเป็นผู้สร้างวัดไร่ขิงเมื่อปี พ.ศ.2394 อาราธนาพระพุทธรูปจากพระนครศรีอยุธยามาเป็นพระประธาน

กับอีกความหนึ่งว่า วัดไร่ขิงเดิมมีพระประธานอยู่แล้วแต่องค์เล็ก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) จึงให้ไปนำพระพุทธรูปจากวัด ซึ่งผู้คนจากวัดไร่ขิงก็พากันขึ้นไปรับอัญเชิญ ลงแพไม้ไผ่ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำท่าจีนจนถึงวัด ก่อนอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันสงกรานต์ในปีนั้นพอดี

ไหว้พระเสริมสิริมงคลปีใหม่

ขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ปะรำพิธี เกิดความมหัศจรรย์ แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป ความร้อนระอุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน ฝนโปรยลงมา ทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี พากันอธิษฐานจิต ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร

จึงถือเป็นวันสำคัญ จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปี หลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาถึงทุกวันนี้

ชาวบ้านเชื่อศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิงว่าสามารถปัดเป่าทุกข์โรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงได้อย่างอัศจรรย์ ทั้งยังอำนวยโชคลาภให้แก่ผู้ที่เดินทางมาสักการะและบนบานศาลกล่าวด้วย “ว่าวจุฬา” รอง ลงมา คือ ประทัดและละครรำ

หลวงพ่อพระใส

“หลวงพ่อพระใส” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง อ.เมือง จ.หนองคาย

เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีพระรูปลักษณะงดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว

ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย เชื่อกันว่าหล่อในสมัยเชียงแสน ชั้นหลังพระใสเป็นพระพุทธรูปล้านช้าง

สมัยนั้นประเทศล้านช้างยังรุ่งเรืองอยู่และพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง พระเจ้าแผ่นดินทรงสนพระทัยพระพุทธศาสนา พระใส เป็นพระพุทธรูปที่หล่อคราวเดียวกันกับ พระเสริมและพระสุก และคู่เคียงกันมาเสมอ

พระใส เป็นพระพุทธรูปที่ผู้หล่อประสงค์จะให้เป็นพระสำหรับแห่มาแต่เดิม สังเกตได้จากห่วงกลม 3 ห่วง โตกว่านิ้วมือติดอยู่กับพระแท่น (หล่อติดกับองค์พระ) สำหรับผูกสอดเชือกขันกับยานแห่

เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว พระเกศเดิมของพระใสซึ่งเป็นของที่มีราคามากถูกขโมยเอาไป พระเกศที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้เป็นพระเกศใหม่

ไหว้พระเสริมสิริมงคลปีใหม่

นอกจากนี้ ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังถ่ายทอดประวัติความเป็นมา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว เจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ได้แข็งข้อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ปราบเมืองเวียงจันทน์ นำโดย สมเด็จพระบวรราชเจ้า จนเมืองเวียงจันทน์สงบ จึงคิดอัญเชิญพระใสมาฝั่งไทย อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดประดิษฐ์ธรรมคุณ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น ข้าหลวงอัญเชิญพระใสลงไปกรุงเทพฯ ขบวนเกวียนของพระใสจากวัดประดิษฐ์ธรรมคุณถึงวัดโพธิ์ชัยเกิดเหตุขัดข้อง เกวียนไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้

ท้ายที่สุดเกวียนก็หักลง แม้จะนำเกวียนมาเปลี่ยนใหม่ แต่ไม่เป็นผล จึงตกลงกันว่าพระใสจะประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย

ขอพรให้มีความสุข ความสำเร็จในด้านต่างๆ มักประสบความสำเร็จสมปรารถนา

พระแก้วมรกต

“พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” เป็นพระประธานคู่บ้านคู่เมืองปางสมาธิ ทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวกันทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 48.3 เซนติเมตร สูงตั้งแต่ฐานถึงยอดพระเศียร 66 เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอรวบรวมได้ว่าองค์พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในประมาณปีพ.ศ.500 โดยพระนาคเสนเถระ เมืองปาฏลีบุตร อินเดีย เข้ามาสู่ดินแดน ของไทยครั้งแรกในอาณาจักรอโยธยา

จากนั้นอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วเมืองชากังราว หรือกำแพงเพชร จากกำแพงเพชรได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วเชียงรายเป็นเวลา 45 ปี จากนั้นก็อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่ลำปางอีก 32 ปี จากลำปางอัญเชิญขึ้นเหนือไปประดิษฐาน ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 85 ปี

ไหว้พระเสริมสิริมงคลปีใหม่

จากเชียงใหม่ไปประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์เป็นเวลา 225 ปี แต่เก่าก่อนตอนปลายสมัยอยุธยา เมืองเวียงจันทน์ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยามีศึกหนักกับพม่าจนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทางเวียงจันทน์ถือโอกาสแข็งเมืองแยกตัวเป็นอิสระ

จนกระทั่งพระเจ้าตากกอบกู้เอกราชและตั้งราชธานีใหม่จึงได้ส่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองเวียงจันทน์ให้กลับมาเป็นเมืองขึ้น ศึกครั้งนั้นทัพของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาด และอัญเชิญพระแก้ว มรกตกลับคืนสู่แผ่นดินไทย

ครั้งแรกเมื่ออัญเชิญกลับมายังประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี ประดิษฐานไว้ที่วิหารน้อยวัดอรุณราชวราราม เป็นเวลา 5 ปี

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อชนะศึกเมืองเวียงจันทน์ อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาก็เกิดความยินดี ดั่งว่าพระแก้วมรกตเป็นพระคู่บารมีคู่บ้านคู่เมือง ครั้นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระ มหากษัตริย์ได้สำเร็จ และตั้งเมืองขึ้นใหม่มีชื่อว่า กรุงรัตนโกสินทร์

รวมระยะเวลาที่องค์พระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ.2321 จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 227 ปี

เข้าไปกราบสักการะขอพรพระแก้วมรกต เชื่อกันว่าจะทำให้จิตใจสะอาดผ่องใสดุจ พระรัตนตรัย

หลวงพ่อพระพุทธโสธร

หากกล่าวถึง “พระพุทธรูป” ที่ได้รับความนับถือและเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย ต้องยกให้ “หลวงพ่อโสธร” แห่งวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา

“หลวงพ่อพระพุทธโสธร” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิคือ มีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิเพชร พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวา ทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา มีส่วนสูง 6 ฟุต 7 นิ้ว พระเพลากว้าง 5 ฟุต 6 นิ้ว

ทรงจีวรบางแนบองค์ ประทับอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ 4 ชั้น ปูลาดด้วยผ้าทิพย์ มีความหมายถึงการอยู่สูงสุด ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร บนแท่นชุกชีรวมทั้งหมด 18 องค์ หลวงพ่อโสธรอยู่ตรงกลาง

เล่าขานสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อโสธรเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมา แล้วชาวบ้านอัญเชิญขึ้นจากน้ำ อาราธนาขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 5 ราวปี พ.ศ.2313 ต้นสมัยกรุงธนบุรี เรียกชื่อ “หลวงพ่อโสธร” สืบมา

ไหว้พระเสริมสิริมงคลปีใหม่

แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในโบสถ์หลังเก่า รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ 18 องค์

ปี พ.ศ.2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัด มีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม

พระพรหมคุณาภรณ์ (เจียม จิรปุญโญ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา และอดีตเจ้าอาวาส ได้รวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม ใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพระพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์

เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองแปดริ้ว ฉะเชิงเทรามาตราบทุกวันนี้

เข้าไปกราบสักการะขอพร เพื่อขอบารมีปกป้องคุ้มครอง หรือรักษาโรคภัย รวมถึงทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง

พระพุทธไตรรัตนนายก

วัดพนัญเชิงวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

มีพระประธานในพระอุโบสถ เรียกว่า “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต” หรือ “หลวงพ่อพนัญเชิง” ชาวจีนเรียกว่า “ซัมปอกง” โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

เป็นศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ มีพัดยศขนาดใหญ่ตั้งอยู่เบื้องหน้า องค์พระปั้นด้วยปูน ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร ในพงศาวดารระบุว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์แห่งอโยธยา เป็นผู้สร้างไว้ และพระราชทานนามว่า วัดพระเจ้าพระนางเชิง เข้าใจว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นพร้อมกับวัด และสร้างไว้กลางแจ้ง

ไหว้พระเสริมสิริมงคลปีใหม่

ในจดหมายเหตุของแคมเฟอร์เขียนครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นของมอญ ในหนังสือภูมิสถานอยุธยา ว่าเป็นของพระเจ้า สามโปเตียน ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า ซำปอกง แปลว่า รัตนตรัย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงซ่อมครั้งหนึ่ง และต่อมาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา คงจะซ่อมแซมอีกหลายพระองค์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ ทรงปฏิสังขรณ์ และได้รับการบูรณะต่อมาหลายพระองค์

โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้บูรณะใหม่ทั้งองค์ เมื่อปลายพ.ศ.2397

ต่อมาในรัชกาลที่ 7 องค์พระส่วนพระหนุ (คาง) พังทลายลงมาจนถึงพระปรางค์ทั้งสองข้าง ได้ซ่อมแซมจนเรียบร้อยภายในเวลา 1 ปี ครั้งนั้นได้เปลี่ยนพระอุณาโลมจากทองแดงเป็นทองคำด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการปฏิสังขรณ์ ลงรักปิดทองใหม่ทั้งองค์ 2 ครั้ง คือ ในปีพ.ศ.2491 กับปีพ.ศ.2534-2536

ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่สองนั้นพระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง

หลวงพ่อโตเป็นที่นับถือของชาวไทยและชาวจีน มักจะมากราบไหว้โดยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น การค้าขายเจริญก้าวหน้า พุทธศาสนิกชนส่วนมากจะนำผ้ามาห่มองค์พระ มักนิยมนำผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ อาหารคาวหวานมาสักการะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน