หลวงปู่นาค โสภโณ วัดระฆังโฆสิตาราม

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่นาค โสภโณ วัดระฆังโฆสิตาราม – วันพุธที่ 15 ม.ค. 2563 น้อมรำลึกวันคล้ายวันมรณภาพ ครบ 49 ปี พระเทพสิทธินายก หรือ หลวงปู่นาค โสภโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ พระเกจิชื่อดังรูปหนึ่ง ที่ชาวเมืองกรุงให้ความเลื่อมใสศรัทธา และรู้จักชื่อเสียงของท่านเป็นอย่างดี

ท่านจัดสร้างพระเครื่องวัตถุมงคลมากมาย อาทิ พระเนื้อผงพิมพ์สมเด็จ และ เหรียญวัตถุมงคล

มีนามเดิมว่า นาค มะเริงสิทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2427 ที่บ้านปราสาท ต.เมืองปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา บิดา-มารดา ชื่อ นายป้อม และ นางสงวน มะเริงสิทธิ์

ตอนวัยเด็กก็เหมือนกับลูกชาวบ้านทั้งหลายที่เจริญวัยขึ้นมา ต้องหาความรู้ใส่ตัวเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล แต่โคราชยังไม่มีโรงเรียนเกิดขึ้น มีแต่วัดวาอารามเท่านั้น พ่อแม่จึงส่งบุตรชายมาฝากไว้กับพระครูสังฆ วิจารย์ (มี) ซึ่งเป็นลุงของท่านที่วัดบึง ใกล้ประตูชุมพล ซึ่งท่านสั่งสอนวิชาให้ตามสมควร

อายุ 13 ปี บรรพชา เมื่อปี พ.ศ.2440 ที่วัดบึง ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา โดยมี พระครูสังฆวิจารย์ (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์

ด้วยความเป็นคนฉลาดเล่าเรียนเก่ง พระอาจารย์ที่เป็นครูสั่งสอนภาษาบาลีและภาษาไทย จึงแนะแนวทางให้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อในสำนักเรียนในกรุงเทพฯ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยกองคาราวานวัว มีผู้ร่วมเดินทางประมาณ 30 คน เดินทางจากโคราชรอนแรมมาเป็นเวลาแรมเดือน จนถึงกรุงเทพฯ โดย พระน้าชาย นำสามเณรนาค ฝากไว้กับพระอาจารย์เลื่อม พระลูกวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งกุฏิของท่านอยู่หน้าวัดใกล้ปากคลอง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนสตรีวัดระฆัง)

พระธรรมไตรโลกาจารย์ ซึ่งต่อมาเป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (มร.ว.เจริญ อิศรางกูร) เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด รับไว้ในอุปการะ

อายุ 15 ปี เล่าเรียนภาษาบาลีมีความรู้ถึงขั้นเข้าแปล บาลีเปรียญธรรม 3 ประโยคเป็นครั้งแรกต่อหน้าพระที่นั่ง โดยมีพระเถระทรงสมณศักดิ์หลายรูปเป็นกรรมการฝ่ายสงฆ์ ผลปรากฏว่าสอบแปลด้วยปากได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ได้รับพระราชทานไทยธรรมเครื่อง อัฐบริขาร จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พ.ศ.2448 พยายามศึกษาเล่าเรียนต่อ ปรากฏว่าสอบไล่ได้เปรียญธรรม 4 ประโยค โดยการแปลด้วยปาก ซึ่งเป็นการยากสำหรับยุคนั้น

อายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมา วัดระฆังโฆสิตาราม มี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระวันรัต (ฑิต) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระธรรมโกศาจารย์ (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ) เป็นผู้บอกอนุศาสน์ พระอุปัชฌาย์ให้นามฉายาว่า “โสภโณ”

พ.ศ.2449 เข้าสอบแปลเปรียญธรรม 5 ประโยค แต่ไม่ได้เข้าสอบเปรียญธรรมต่อถึงประโยค 6 เหตุที่ท่านมีภารกิจเป็นผู้รับใช้ ใกล้ชิดถวายงานวัดให้สมเด็จพระพุทธ โฆษาจารย์ เจ้าอาวาส

ระหว่างที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมบาลี หาเวลาไปศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฏฐานเพิ่มเติมกับพระอาจารย์ที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ลงมือปฏิบัติจิตตภาวนาอย่างเคร่งครัด โดยเพียรพยายามศึกษาและฝึกปฏิบัติอยู่นานถึง 10 ปี สามารถทำมูลกัมมัฏฐานเป็นฌานวิปัสสนา

พ.ศ.2484 สร้างวัตถุมงคลพระสมเด็จขึ้นมา โดยอาศัยตำราของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ระหว่างนั้นเป็นเวลาที่บ้านเมืองเกิดสงครามเอเชียบูรพา ท่านจึงได้แจกจ่ายพระสมเด็จดังกล่าวให้ทหารติดตัวไปในสมรภูมิ เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจแก่ทหารอีกส่วนหนึ่งด้วย พระสมเด็จที่หลวงปู่นาคจัดสร้างขึ้นครั้งนั้น และที่สร้างขึ้นในรุ่นต่อมา ปรากฏว่า ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ปรากฏเกียรติคุณในวงการพระเครื่อง ตลอดจนถึงทุกวันนี้

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2467 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม พ.ศ.2468 เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2464 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระธรรมกิติ วันที่ 6 พ.ย.2474 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชโมลี

วันที่ 5 ธ.ค.2500 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพสิทธินายก

มรณภาพอย่างสงบ ด้วยโรคชราที่ โรงพยาบาลศิริราช ธนบุรี เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ม.ค.2514 เวลา 04.45 น. สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66

เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตาราม อยู่ 47 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน