8วัดจังหวัดระยองเข้าเกณฑ์

ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ-ต้นแบบวิถีชุมชน

8วัดจังหวัดระยองเข้าเกณฑ์ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ-ต้นแบบวิถีชุมชนสมาคมเพื่อนชุมชน : ยกระดับศาสนสถาน ผ่าน “โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และ การจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด จังหวัดระยอง” นำไปสู่การพัฒนาวัดเชิงนิเวศ (Eco Temple) ซึ่งมีวัดที่ผ่านการประเมินจำนวน 8 วัด

ด้วยเกณฑ์ 5 ด้าน ได้แก่ ความสะอาดและความเป็นระเบียบ พื้นที่สีเขียว การจัดการ สิ่งแวดล้อม กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมผลักดันเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้วิถีชุมชนและสถานที่ ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของระยอง

นายมนชัย รักสุจริต

นายมนชัย รักสุจริต ผู้จัดการสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า สมาคมเพื่อนชุมชน ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา รวมทั้งเป็นสื่อกลางประสานงานระหว่าง วัด ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และองค์กรภาครัฐ ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับเป็น วัดเชิงนิเวศ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ผ่าน “โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด จังหวัดระยอง” โดยวัดที่ผ่านเกณฑ์การจัดการ สิ่งแวดล้อม มีทั้งหมด 8 วัด ประจำปี 2561 ได้แก่

วัดตะเคียนทอง

1.วัดตะเคียนทอง ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

2.วัดกรอกยายชา ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

3.วัดหนองสนม ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

วัดหนองสนม

4.วัดเขาไผ่ ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

5.วัดโขดหิน ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

6.วัดหนองแฟบ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีมาก

7.วัดตากวน ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ดีมาก

8.วัดห้วยโป่ง ต.ห้วยโป่ง-มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ได้รับรางวัลเกณฑ์ดี

สำหรับเกณฑ์การประเมินจัดทำโดย กรมส่งเสริมคุณภาพ สิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้

โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวฯ

1.ความสะอาดและความเป็นระเบียบ อาทิ ติดตั้งแผนผังการใช้พื้นที่วัด และจัดแบ่งการใช้พื้นที่ภายในวัดเป็นสัดส่วน มีการดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิ ที่จอดรถ ห้องครัว ห้องน้ำ และลานวัด เป็นต้น หรือจัดให้มีตู้เก็บสิ่งของที่แยกเป็นหมวดหมู่ตามประเภทการใช้งานอย่างชัดเจน

2.พื้นที่สีเขียว วัดควรมีการปลูกต้นไม้ เช่น ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้ดอก ไม้กระถาง รวมถึงพืชท้องถิ่น สมุนไพร ผักพื้นบ้าน พร้อมดูแลรักษาต้นไม้และพื้นที่สีเขียวอยู่เป็นประจำเพื่อสร้างความร่มรื่นและความสวยงามภายในวัด นอกจากนี้จะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ให้แก่ชุมชนด้วย

3.การจัดการสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็นการจัดการด้านมลพิษ ตามหลัก 3R ได้แก่ ลดการใช้ ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce, Reuse, Recycle) และการจัดการสุขอนามัยและความปลอดภัย อาทิ มีมาตรการควบคุมสัตว์ในวัด ไม่นำสัตว์มาเลี้ยงในกุฏิ อาคารที่พักหรืออาคารสำนักงาน ดูแลรักษาความสะอาดสัตว์ กรง ภาชนะใส่อาหารให้สะอาดอยู่เสมอ เป็นต้น

4.กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้าน สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเป็นตัวอย่างให้ศาสนิกชน เช่น การใช้ธูปเทียนไฟฟ้าแทนการจุดธูปเทียนเพื่อลดมลพิษ หรือเปลี่ยนจากการใช้พวงหรีดดอกไม้สดหรือพวงหรีดพลาสติกและโฟม เป็นสิ่งที่ใช้ซ้ำได้ พระสงฆ์จะได้ใช้ของได้เต็มประโยชน์

และ 5.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน วัดควรมีกิจกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน และให้ชาวบ้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อม ในวัด ตามแนวทางที่เรียกกว่า “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน)

พระมหายุทธนา ธัมมวังโส เจ้าอาวาส วัดหนองสนม กล่าวว่า เมื่อเข้าร่วมโครงการก็มีคณะกรรมการจากสมาคมเพื่อนชุมชน เข้ามาให้คำแนะนำในการพัฒนาวัดให้เป็นวัดสีเขียว และวัดเชิงนิเวศ ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านความสะอาด ด้านพื้นที่ที่เป็นสีเขียว ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านส่งเสริมความรู้ด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วม จนทำให้วัดหนองสนมได้รับรางวัลเกณฑ์ ดีเยี่ยม

“ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เกิดจากความร่วมมือ คำแนะนำ และการระดมความคิดจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมเพื่อนชุมชน วัด ชาวบ้าน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อวัดพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ก็เป็นความภาคภูมิใจของชุมชน เพราะนอกจากเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา สถานที่ท่องเที่ยว เรายังเป็นแหล่งต้นแบบในการดำเนินชีวิตของวิถีชุมชนอีกด้วย” พระมหายุทธนา กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน