คอลัมน์ อริยะโลกที่6

“หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี” หรือ “พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์” พระเถระที่มุ่งเน้นศึกษาหลักธรรมจากครูบาอาจารย์ คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

โดยหลวงปู่มั่นให้ความเมตตาและถือหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นทายาทธรรมสืบต่อจากท่าน

หลวงปู่เทสก์ เป็นที่ยอมรับในหมู่พระเถระชั้นผู้ใหญ่สายพระป่า สายธรรมยุติกนิกาย ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านจาริกและอบรมสั่งสอนศิษย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไปด้วยหลักธรรมะล้วนๆ ไม่ยึดติดกับเครื่องรางของขลัง ไม่ติดยึดในเรื่องโชคชะตา

หลวงปู่เทสก์ มีแต่ยึดหลักคำสอนของพุทธองค์และการปฏิบัติเป็นแนวทางเป็นด้านหลัก

เกิดในสกุล เรี่ยวแรง เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2445 ที่บ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี บิดา-มารดา ชื่อ นายอุตส่าห์ และนางครั่ง เรี่ยวแรง มีพี่น้อง 10 คน เป็นบุตรลำดับที่ 9 ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

เข้าพิธีบรรพชา เมื่อปี พ.ศ.2461 มีโอกาสติดตามพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไป จ.อุดรธานี

ครั้นเมื่ออายุครบ 22 ปี อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดสุทัศน์ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2466 โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ออกธุดงค์กับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม กับพระมหาปิ่น ปัญญาพโล ซึ่งเป็นน้องชายของท่าน ออกจาก จ.อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี และพบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ที่บ้านค้อ อ.บ้านผือ

เป็นครั้งแรกในชีวิตของหลวงปู่เทสก์ ที่ได้พบกับพระอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ผ่านมาทาง จ.สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา หนองคาย เชียงใหม่ ประเทศพม่า ลำพูน จันทบุรี ภูเก็ต พังงา กระบี่ กรุงเทพฯ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

ท้ายสุดของการจาริก สร้างวัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย รวมทั้งพระอุโบสถ มณฑป ศาลาเทสรังสี หอระฆัง หอสมุด หอกลอง กุฏิเสนาสนะ เป็นต้น

ในปี พ.ศ.2537 ทำบุญฉลองอายุครบ 92 ปีบริบูรณ์ ที่วัดถ้ำขาม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และหลวงปู่เทสก์ แสดงเจตนารมณ์ด้วยคำปรารภในสัมโมทนียกถา เมื่อคราวทำบุญฉลองอายุ

มีความตอนหนึ่งว่า “อาตมาจะขอเล่าเรื่องพระแก่องค์หนึ่ง จำพรรษาอยู่ที่วัดหินหมากเป้งมาเป็นเวลานาน อยู่ดีๆ ก็คิดอยากจะมา วัดถ้ำขาม โดยที่ไม่ได้บอกให้ญาติโยมทราบโดยทั่วกัน

ต่อมา ชาวสกลนครก็แห่กันมาเยี่ยมพระแก่บนวัดถ้ำขาม ถามถึงเรื่องราวต่างๆ ที่มาพอทราบความแล้ว ญาติโยมชาวสกลนครจึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษา ณ วัดถ้ำขาม โดยต่างรับภาระปฏิบัติอุปัฏฐากเป็นอย่างดี มีปัจจัยสี่ เป็นต้น ไม่ให้ลำบากอดอยาก คิดไปแล้วก็น่าเสียดายมาก

เมื่อก่อนยังหนุ่มไปมาคล่องแคล่ว ว่องไว ทำไมถึงไม่เห็นมา นี่แก่จนป่านนี้แล้ว อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนไม่ได้แล้ว จึงขึ้นมาอยู่ถ้ำขาม”

อย่างไรก็ตาม คิดเสียว่า เป็นโชคของชาวสกลนครอีกเหมือนกันเพราะพระหนุ่มๆ มีถมไป แต่พระแก่เช่นนี้หาดูได้ยาก เอาเถิดไหนๆ พระแก่องค์นั้นมาถึงที่นี่แล้ว ขอญาติโยมชาวสกลนครจงเมตตารับไว้ด้วย”

หลวงปู่เทสก์ เป็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วย ศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธา ในการอบรมสั่งสอนธรรม เพื่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชนียาจารย์ของชนทุกระดับชั้น

ในปัจฉิมวัย ไปพำนักที่วัดถ้ำขามและละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2537 เวลาประมาณ 22.00 น. สิริอายุ 93 ปี พรรษา 71

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และพระราชทานโลงทองทึบ รวมทั้งทรงรับงานบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์

พิธีพระราชทานเพลิงจัดขึ้น ณ วัดหินหมากเป้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน