ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ บ้านนาแหลม จังหวัดแพร่

ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ – เมื่อเร็วๆ นี้ นายภุชงค์ สำลีราช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.ทุ่งกวาว อ.เมือง จ.แพร่ ร่วมกับ อาจารย์คำเกี้ยว เมืองเอก ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลทุ่งกวาว, นายสมหมาย ศรีใจ อดีตกำนันตำบลทุ่งกวาว และประชาชนบ้านนาแหลม หมู่ 6 และชาวบ้านในเขตตำบลทุ่งกวาว คณะศรัทธาวัดโศภนาลัย

โดยการนำของ พระครูพิบูลพัฒนโกศล เจ้าคณะอำเภอเมืองแพร่ และเจ้าอาวาสวัดโศภนาลัย ร่วมกันฟื้นฟูประเพณีห่มผ้าพระธาตุและไหว้พระธาตุเจดีย์นาแหลม ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีอายุหลายร้อยปี ที่ตั้งอยู่บริเวณกลางทุ่งนา หมู่ 6

ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์

โดยตั้งขบวนแห่ที่วัดโศภนาลัย เคลื่อนขบวน โดยมีคณะศรัทธาประชาชนตำบลทุ่งกวาว คณะครูนักเรียนโรงเรียนรัฐราษฎร์บำรุง ผ่านตามเส้นทางหมู่บ้าน เวลา 10.30 น. ถวายภัตตาหารเพล เวลา 11.30 น. ประชาชนที่ไปร่วมทำบุญร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ณ โรงทานวัดพระธาตุเจดีย์นาแหลม มีผู้ใจบุญ นำมาร่วมอาหารมาร่วมบริจาค

จากนั้นการรำบวงสรวงพระธาตุเจดีย์ โดยคณะฮอมบุญ จากการนำของนางวราภรณ์ เสนาใจ ในเวลา 13.00 น. ร่วมถวายผ้าห่มพระธาตุ เวลา 13.30 น. ร่วมกันห่มผ้าพระธาตุ เป็นเสร็จพิธี

ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์

พระราชวิสุทธี (ก๋วน อัคคปัญโญ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดแพร่ บอกเล่าว่า วัดพระธาตุเจดีย์ ไม่ปรากฏหลักฐานใครผู้สร้าง สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในนาแหลมก็เห็นมาตั้งแต่เด็กในสภาพรกร้าง มีสิ่งก่อสร้างปรักหักพังมานาน

คาดเดาจากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่า วัดพระธาตุเจดีย์สร้างมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 โดยสันนิษฐานจากลักษณะของพระธาตุ ยุคนั้นเมืองแพร่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลำพูน-เชียงใหม่ในสมัยพระนางจามเทวี

วัดพระธาตุเจดีย์ พบว่า มีการก่อสร้างไว้อย่างสมบูรณ์แบบ มีเจดีย์ อุโบสถ และพัทธสีมาครบถ้วน บ่งบอกว่าชุมชนในอดีตแถวนี้ต้องหนาแน่น และมีความเจริญเป็นชุมชนที่มีกำลังทรัพย์ ไม่งั้นไม่สามารถสร้างวัดได้และบริเวณโดยรอบต้องมีหมู่บ้านเรียงรายกันไป

ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์

เพราะมีการพบซากวัดเก่าแก่อีก 2 วัด คือ วัดป่าสูงและวัดผกาเสนโด ชื่อวัดทั้ง 2 เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันในปัจจุบัน ส่วนชื่อเดิมของวัดไม่ปรากฏเพราะหาหลักฐานไม่พบ คาดการล่มสลายของหมู่บ้าน และวัดน่าจะเกิดจากเหตุการณ์สงครามช้างเผือกในปี พ.ศ.2106 พระเจ้าบุเรงนองรบชนะไทยแล้วกวาดต้อนชาวบ้าน เชลยศึก หมู่บ้านวัดวาอารมถูกเผาวอดวาย

หลังสงครามสงบจึงเกิดชุมชนขึ้นมาใหม่ ตั้งห่างจากหมู่บ้านเดิมมาทางทิศใต้ เรียกหมู่บ้านนาแหลม อีกกลุ่มตั้งทางทิศตะวันตกเรียกหมู่บ้านทุ่งกวาว ชาวบ้านมีการสร้างวัดใหม่ขึ้นมา แต่ไม่มีพัทธสีมา ดังนั้น การประกอบกิจทางศาสนาก็ยังอาศัยวัดพระธาตุเจดีย์ประกอบสังฆกรรม ด้วยเป็นวัดที่สมบูรณ์ครบถ้วน

ต่อมาปี พ.ศ.2480 วัดทุ่งกวาว ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ทำให้ประกอบสังฆกรรม วัดพระธาตุเจดีย์ จึงถูกทิ้งร้าง ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน

ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์

อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2530 ปีท่องเที่ยวไทย หลวงปู่ก๋วนและคณะศรัทธาชาวตำบลทุ่งกวาว ร่วมบูรณปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์และอุโบสถที่ปรักหักพัง ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ

โดยจัดทำยอดฉัตรเจดีย์เป็นรูปฉัตร 7 ชั้น เรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่น เพื่อความเป็นสิริมงคล ชั้นที่ 1 หมอกมุงเมือง ชั้นที่ 2 รุ่งเรืองทั่วฟ้า ชั้นที่ 3 ฝูงไพร่ฟ้าจื้นจม ชั้นที่ 4 สุขเกษมศานต์ทั่วหน้า ชั้นที่ 5 มั่งมูลดก ชั้นที่ 6 สุขเสถียรจีระมาศ ชั้นที่ 7 ประชาราษฎร์ยินดี

ฟื้นพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์

นายภุชงค์กล่าวว่า “เมื่อได้รับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาแหลมหมู่ 6 เห็นว่าที่ในหมู่บ้านมีพระธาตุเจดีย์เก่าแก่ เป็นโบราณสถาน เมื่อก่อนนั้น บรรพบุรุษได้มีพิธีกรรมเข้ารุกขมูล ทำบุญไหว้พระธาตุเจดีย์ ในระยะช่วงหลัง หลายปีที่ผ่านมาไม่มีประเพณีไหว้พระธาตุเจดีย์นาแหลม

ปีนี้จึงริเริ่มขึ้นอยู่ในช่วงเดือน 4 แรม 2 ค่ำ อย่างไรก็ตาม ปีนี้อาจจะล่าช้า ปีหน้าจะวางแผนร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานอื่นๆ ในตำบลทุ่งกวาว จัดงานไหว้พระธาตุและห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ ขอบคุณพี่น้องชาวตำบลทุ่งกวาวที่สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน