คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประอิษฐ์

มาต่อปางที่ 4 กันครับ

ปางที่ 4 ปางทรงพยากรณ์พระอานนท์

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า…ก่อนพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอานนท์เศร้าโศกเสียใจแอบไปยืนร้องไห้อยู่เพียงลำพัง พระพุทธองค์ทรงรับสั่งหาพระอานนท์และตรัสปลอบว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได ้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งที่มีเกิดในเบื้องต้น ต้องแปรปรวนในท่ามกลาง และดับสลายลงในที่สุด ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจนั้นเป็นของธรรมดา ให้ละความเศร้าโศกและตั้งใจปฏิบัติธรรม จากนั้นทรงสรรเสริญความดีของพระอานนท์ และตรัสพยากรณ์ว่า พระอานนท์จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก่อนที่คณะสงฆ์จะทำปฐมสังคายนา ?

พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์พระอานนท์ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนอนตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทาบบนพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางระหว่างพระนาภี ตัวอย่างเช่นที่วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม

ปางที่ 5 ปางโปรดพระสุภัททปริพาชก

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า…ขณะที่พระพุทธองค์ทรงบรรทมอยู่ระหว่างต้นสาละคู่หนึ่ง ในเมืองกุสินารา มีปริพาชกนามว่า “สุภัททะ” ทราบข่าวว่าพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงปรารถนาเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตและทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด คือ อริยมรรค มีองค์ 8 และทรงย้ำว่าตราบใดที่พุทธสาวกสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โลกนี้ก็จักไม่พึงว่างเปล่าจากพระอรหันต์ เมื่อจบธรรมเทศนาสุภัททะเกิดความเลื่อมใสทูลขออุปสมบทและบรรลุอรหันต์ในราตรีนั้น นับเป็น “พระอรหันต์ปัจฉิมสาวก” อรหันต์พุทธสาวกองค์สุดท้ายในขณะที่พระพุทธองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพ ?

พระพุทธรูปปางโปรดพระสุภัททปริพาชก อยู่ในพระอิริยาบถประทับนอนตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์เสมอระหว่างพระพาหา เป็นกิริยาขณะทรงแสดงธรรม

สักการะพระพุทธรูปปางโปรดพระสุภัททปริพาชก ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม

ปางที่ 6 ปางปัจฉิมโอวาท

พุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน กล่าวว่า … ภายหลังจากพระพุทธองค์ทรงโปรดสุภัททปริพาชกแล้ว ทรงตรัสประทานโอวาทพระสงฆ์ โอวาทนั้นเป็นพุทธดำรัสสั่งครั้งสุดท้าย มีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องเกี่ยวกับพระสงฆ์ยังใช้ถ้อยคำเรียกขานกันลักลั่นอยู่ คือคำว่า “อาวุโส” และ “ภันเต” อาวุโสตรงกับภาษาไทยว่า “คุณ” ภันเต คือ “ท่าน” พระพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า พระที่มีอายุพรรษามากให้เรียกพระบวชภายหลังตนหรือที่อ่อนอายุพรรษากว่าว่า “อาวุโส” หรือ “คุณ” ส่วนพระภิกษุที่อ่อนอายุพรรษาพึงเรียกพระที่แก่อายุพรรษากว่าตนว่า “ภันเต” หรือ “ท่าน” แล้วทรงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั้งปวงทูลถามข้อสงสัยในเรื่องที่ทรงสั่งสอนไว้แล้ว จะได้ไม่เสียใจภายหลังว่าไม่มีโอกาสถาม ปรากฏว่าไม่มีพระรูปใดทูลถามเลย

นอกจากนี้ พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงตั้งพระสาวกองค์ใดให้รับตำแหน่ง “พระศาสดา” ปกครองพระสงฆ์สืบต่อเหมือนพระศาสดาในศาสนาอื่นๆ ซึ่งก็ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามเช่นกัน แต่พระพุทธองค์ตรัสสั่งพระสงฆ์ไว้ชัดเจนก่อนจะนิพพานว่า พระภิกษุรูปใดอย่าเข้าใจผิดว่าเมื่อพระองค์นิพพานแล้ว ศาสนาพุทธหรือคำสั่งสอน ของพระองค์จักไร้พระศาสดา และตรัสบอกพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว”

จากนั้นตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หลังจากนั้นพระพุทธองค์ไม่ตรัสอะไรอีกเลย จนกระทั่งเสด็จ ดับขันธปรินิพพานในเวลาสุดท้ายของคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญวิสาขะ ณ ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชา

พระพุทธรูปปางปัจฉิมโอวาทนี้ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนอนตะแคงขวาแบบสีหไสยาสน์ แต่มีลักษณะพิเศษ คือ พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์ (นิ้วหัวแม่มือจดข้อนิ้วมือแรกของนิ้วชี้) เสมอพระอุระ สามารถเยี่ยมชมและสักการะได้ที่วัดกระทุ่มเสือปลา อ่อนนุช กรุงเทพฯ

ต่อกันอีก 3 ปาง ซึ่งเป็น “ปางปรินิพพาน” ที่แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ในฉบับหน้าครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน