พระลือหน้ามงคล กรุวัดประตูลี้

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

พระลือหน้ามงคล กรุวัดประตูลี้ – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ถ้าพูดถึงพระเครื่องสกุลลำพูน เราก็จะนึกถึงพระรอดวัดมหาวันเป็นอันดับแรก รองลงมาก็จะเป็นพระคงวัดพระคงฤาษี ไม่ก็พระเลี่ยงวัดประตูลี้ พระบางวัดดอนแก้วเป็นต้นส่วนพระที่มีขนาดเขื่องหน่อยก็คงจะเป็นพระเปิม พระที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงก็คือพระฤาหรือพระลือวัดประตูลี้ พระลือก็เป็นพระกรุเดียวกับพระเลี่ยง ขุดพบพร้อมๆ กัน แต่พระลือมีขนาดเขื่องหน่อย และมีจำนวนน้อยพบไม่มากนัก พระเลี่ยงมีมากกว่าคนก็รู้จักมากกว่า อีกทั้งขนาดของพระลือเป็นพระที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนพระเลี่ยงมีขนาดกำลังพอเหมาะ ความนิยมก็มาอยู่ที่พระเลี่ยง

วัดมหารัตตาราม (วัดประตูลี้) พระอารามนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกกำแพงเมือง ไปทางประตูลี้ ซึ่งเป็นทวารพระนครฝ่ายทิศใต้ ของนครหริภุญชัยนครและเป็นหนึ่งในจตุรพุทธปราการที่พระนางจามเทวีทรงให้สร้างไว้ และที่พระอารามแห่งนี้ได้มีการขุดพบพระเครื่องที่สำคัญอยู่หลายอย่าง และมีการขุดพบอยู่หลายครั้งหลายหนมาแล้วในอดีต เท่าที่มีการบันทึกไว้มีดังนี้

ในปี พ.ศ.2417 เจ้าดิเรกรัตนไพโรจน์ (ดาวเรือง) เป็นเจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 8 ได้อุปสมบทในพระอารามนี้ ทั้งได้ปฏิสังขรณ์พระอารามเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แก่พระเจดีย์องค์ประธาน และได้พบพระเครื่องชนิดต่างๆ ของวัดประตูลี้เป็นอันมาก เช่นพระเลี่ยง พระเลี่ยงหลวง พระลือ พระสามและพระสิบสองเป็นต้น

การขุดหาพระเครื่องวัดประตูลี้ในปี พ.ศ.2484 ในปีนี้เป็นการขุดหาพระเครื่องครั้งใหญ่ทั่วไปในลำพูน ในยุคเจ้าหลวงจักรคำ ขจรศักดิ์ ซึ่งเป็นระยะเวลาของสงครามอินโดจีน การขุดในครั้งนี้กระทำในพื้นที่ด้านใต้นอกเขตอุปจารของพระอาราม และได้พบพระเครื่องของกรุนี้เป็นจำนวนมาก พระเครื่องที่ขุดพบได้แก่ พระเลี่ยง พระเลี่ยงหลวง พระลือ พระสาม พระแปด และพระสิบสองเป็นต้น

ในปี พ.ศ.2496 เป็นการขุดครั้งหลังสุดของกรุนี้ ซึ่งเป็นการพบโดยบังเอิญ โดยสามเณรอินตา (ในสมัยนั้น) และนายคำ แก้วตา ได้ขุดถอนต้นมะพร้าวซึ่งอยู่ทิศเหนือของตัวพระอารามและได้ขุดพบโถโบราณเนื้อดินเผาใบหนึ่ง มีลักษณะคล้ายตะเกียงหลอด มีฐานเป็นชั้นๆ ตรงกลางป่อง และมีคอยาวเรียวขึ้นไปถึงปาก ภายในโถมีพระเลี่ยงหลวงบรรจุอยู่ประมาณ 300 องค์

โถโบราณที่บรรจุพระเครื่องที่พบในครั้งนั้น เป็นที่สนใจของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ซึ่งขณะนั้นท่านขึ้นไปค้นคว้าโบราณคดีและศิลปวัตถุในลำพูน ต่อมาอาจารย์จิต บัวบุศย์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่างนักค้นคว้าโบราณคดี สาขาเครื่องปั้นดินเผา ได้มีความสนใจมากและติดต่อขอซื้อ แต่ผู้เป็นเจ้าของไม่ยอมขายให้

ครับ พระเครื่องกรุวัดประตูลี้ ที่มีผู้รู้จักมากที่สุดก็คือพระเลี่ยง เนื่องจากมีจำนวนมากกว่าและมีขนาดเล็กกว่าพระทุกพิมพ์ของกรุนี้ จึงเป็นที่นิยมกันมากกว่าพระพิมพ์อื่นๆ ของกรุเดียวกัน พระที่มีขนาดเขื่องขึ้นมาอีกหน่อยก็คือพระลือ แต่ก็มีจำนวนพระที่ขุดพบไม่มากนัก จึงอาจจะไม่ค่อยได้พบเห็นกันมากนัก จนอาจทำให้ลืมกันไปได้ว่า พระเครื่องที่น่าสนใจอีกพิมพ์หนึ่งของกรุนี้ก็คือพระลือ ซึ่งเป็นพระเครื่องที่น่าสนใจอีกพิมพ์หนึ่ง ในเรื่องพุทธคุณและประสบการณ์นั้น ก็เฉกเช่นเดียวกันกับพระเลี่ยง คือเด่นทางด้านแคล้วคลาด หลีกลี้หนีภัยพาลได้ อีกทั้งพระลือนั้นยังมีความเชื่อที่ว่าจะอำนวยอวยผลให้มีชื่อเสียงเลื่องลือโด่งดังอีกด้วย ตามชื่อของพระ แต่พระลือหน้ามงคลนั้นที่เป็นพระแท้ๆ ก็หาได้ยากยิ่งครับ อันเนื่องจากจำนวนพระที่ขุดพบนั้นมีไม่มากนักครับ

ในวันนี้ผมก็ได้นำรูปพระลือหน้ามงคล กรุวัดประตูลี้จากหนังสือ อมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย มาให้ชมกันครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน