คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง

เมธี เมืองแก้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ ชาวตำบลนาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ได้พร้อมใจกันจัดประเพณียกขันหมากปฐม หรือยกขันหมากพระถม เพื่อสมทบทุนสร้างที่พักสงฆ์ใสชมพู่ หมู่ที่ 5 ต.นาข้าวเสีย มีนายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้เกียรติเป็นประธาน ร่วมกับผู้นำชุมชน นักธุรกิจ และประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดตรัง จำนวนหลายร้อยคน ด้วยบรรยากาศที่ครึกครื้นและอิ่มอกอิ่มใจไปด้วยแรงบุญแรงกุศล เพื่อฟื้นฟูประเพณีเก่าแก่ให้หวนกลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากที่ได้ห่างหายไปจากพื้นที่นานมากแล้ว

ทั้งนี้ ภาคใต้ จะมีการจัดประเพณียกขันหมากปฐม เพื่อระดมทุนถวายวัด คล้ายกับงานทอดผ้าป่า งานทอดกฐิน หรืองานบุญปอยหลวง ของชาวเหนือ ส่วนช่วงระยะเวลาของการจัดจะเป็นไปตามความพร้อมของชาวบ้าน หรือตั้งแต่เดือนมี.ค.2560 เป็นต้นไป ซึ่งมักเป็นเวลาหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นแล้ว แต่จะไม่นิยมจัดในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา โดยเป็นการสมมติพิธีแต่งงานที่มีเค้าโครงเรื่องมาจากพุทธประวัติ ตอนวิวาห์มงคล ระหว่างพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นพระบิดา และพระมารดา ของพระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ ยังมีการสมมติบุคคลเป็นพระญาติวงศ์ฝ่ายต่างๆ แล้วจัดพิธีแต่งงานตามประเพณีท้องถิ่นอย่างครบถ้วน ซึ่งชาวบ้านจะถือเป็นเกียรติยศ และจะตกแต่งกายกันอย่างงดงาม โดยอาจหยิบยืมเครื่องแต่งกายจากคณะโนรา หรือคณะลิเกบ้าง แต่บางรายก็มีความศรัทธาจัดสร้างขึ้นใหม่ เมื่อใช้แล้วก็จะถวายไว้เป็นสมบัติวัดเพื่อใช้ในปีต่อไป

ส่วนการจัดขบวนแห่ขันหมาก จะให้ฝ่ายเจ้าสาวไปถึงวัดก่อน เพราะมีการสมมติเอาวัดเป็นเสมือนบ้านของเจ้าสาว แต่บางท้องถิ่นก็อาจให้ฝ่ายเจ้าสาว จัดเตรียมแต่งตัวในวัด โดยไม่ต้องเข้าขบวนแห่

การแห่ขันหมากนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่สวยงามและเป็นที่สนุกสนานของชาวบ้าน ซึ่งอาจมีผู้นำเงินมาสมทบใส่ขันหมากเพิ่มเติมได้ตลอดทาง เมื่อขบวนขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าวมาถึงเขตวัด ฝ่ายเจ้าสาวจะนำผ้า หรือเชือกมากั้นขวางไว้ เพื่อไม่ยอมให้ขบวนเข้าไป จนกว่าจะมีผู้นำเงินมาให้เท่าจำนวนที่เรียกร้อง ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งที่จะสามารถเรี่ยไรเงินเข้าวัดได้เพิ่มขึ้น ครั้นขบวนขันหมาก และญาติมิตรของทุกฝ่ายถึงที่ประกอบพิธีพร้อมกันแล้ว ซึ่งมักจะใช้โรงธรรม หรือที่ที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ แต่ไม่นิยมจัดในอุโบสถ

สำหรับประเพณียกขันหมากปฐมของชาวตำบลนาข้าวเสีย จัดขึ้นตามพิธีแต่งงานของภาคใต้อย่างครบถ้วน โดยเริ่มตั้งแต่พิธียกขันหมากเจ้าบ่าวมาสู่ขอเจ้าสาว ซึ่งมีการแต่งกายด้วยชุดไทย ตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 7 และยุคปัจจุบัน โดย นายจารุวัฒน์ บุญประเสริฐ นักจัดรายการชื่อดังของจังหวัดตรัง สมมติตัวเองเป็นเจ้าบ่าว แล้วเดินมาพร้อมกับขบวนกลองยาว และขบวนขันหมาก ที่จัดเตรียมมาอย่างอลังการ ซึ่งเริ่มจากแยกตลาดนาปด มายังสำนักสงฆ์ใสชมพู่ เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

จากนั้น เจ้าบ่าวได้ทำพิธีสู่ขอเจ้าสาว พร้อมกับสินสอดทองหมั้น กับฝ่ายญาติผู้ใหญ่ โดย นายกัญธิชา วรางสกุล จากสโมสรตรัง เอฟซี สมมติตัวเองเป็นเจ้าสาว ต่อด้วยพิธีรดน้ำสังข์ โดยมีนายรบ สืบ คหบดีชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เกียรติเป็นประธาน จากนั้น เป็นพิธีถวายภัตตาหารเพล พิธีถวายปัจจัย ก่อนที่พระสงฆ์ 3 รูปจะให้ศีลให้พร เป็นอันเสร็จพิธี ส่วนเงินสินสอดและเงินที่ผู้ร่วมงานร่วมกันบริจาคทั้งหมดประมาณ 1 แสนบาทเศษ ถวายให้แก่สำนักสงฆ์เพื่อใช้บำรุงพระพุทธศาสนา

การหวนกลับมาจัดงานนี้อีกครั้ง ได้เริ่มต้นความคิดโดย นางรุลิยา มั่งสูงเนิน เจ้าของร้านเสริมสวยรุลิยาในตำบลนาข้าวเสีย ที่ต้องการร่วมกันฟื้นฟูประเพณีโบราณ ทำให้เกิดการเรียนรู้ และการปฏิบัติสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง ตลอดจนเพื่อให้ประชาชน และเยาวชน ได้หันหน้าเข้าวัดฟังธรรมกันมากขึ้น ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ พระครูสมุห์เสริมชาติ ธัมมโฆสโก หัวหน้าที่พักสงฆ์ใสชมพู่ ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ที่เคยร่วมกับชาวบ้านจัดประเพณีนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณปี 2547 ที่วัดธรรมาราม และในอดีตอำเภอนาโยงก็มีหลายวัดที่เคยจัด แต่ได้หายไปหมดแล้ว

ประเพณียกขันหมากปฐม จึงนับเป็นวิธีการทำบุญของชาวชุมชนท้องถิ่นที่แยบคาย ในการสร้างเสริมให้ผู้คนทั้งหลายได้ร่วมกันเข้าวัดเพื่อทำกิจกรรม และยังเป็นการสร้างความสนุกสนานไปพร้อมกันด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน