พระโคนสมอเนื้อชินเงิน

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

พระโคนสมอเนื้อชินเงิน สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระโคนสมอส่วนใหญ่เท่าที่เราพบนั้นจะเป็นพระเนื้อดินเผา จนนึกไปว่าพระโคนสมอมีแต่เนื้อดินเผา แต่ความจริงที่เป็นเนื้อชินเงินก็มี แต่พบน้อยมาก

สันนิษฐานว่าน่าจะชำรุดผุพังไปเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงพบที่เป็นเนื้อชินเงินน้อยมาก และพระเนื้อชินเงินก็จะมีขนาดเล็กกว่าพระเนื้อดินเผามาก ขนาดสามารถนำมาห้อยคอได้ จึงเป็นที่นิยมกันมาในอดีต แต่ก็มีพบน้อย สนนราคาก็สูงกว่าพระเนื้อดินเผามาก

ทำไมถึงเรียกว่าพระโคนสมอ และพระโคนสมอ ที่แท้จริงเป็นพระที่สร้างในยุคสมัยใด หลายๆ ท่าน ก็อาจจะทราบดี แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ไม่ทราบเรื่องราวความเป็นมา

ผมจึงขออนุญาตเล่าเรื่องพระโคนสมออีกครั้งนะครับ ในปีพ.ศ.2430 เมื่อคราวที่ราชการจะตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำหรับพระนคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เป็นแม่กองซ่อมแซมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เจ้าคุณวรพงศ์ฯ ได้พบพระเป็นจำนวนมากประมาณ 13 ปี๊บ อยู่บนเพดานท้องพระโรงพระที่นั่งศิวโมกข์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ของพระราชวังบวรสถานมงคล จึงได้สั่งให้ชะลอพระทั้งหมดมาพักไว้ ณ โคนต้นสมอพิเภก ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล พระดังกล่าวได้ถูกทิ้งไว้ที่โคนต้นสมอพิเภกเป็นเวลานานพอสมควร

จนต่อมาทางการจึงได้เคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ และมีพระบางส่วนที่มีการแบ่งให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ซึ่งใกล้ชิดเกี่ยวข้องในการซ่อมแซมพระราชวังบวรสถานมงคล และการที่มีผู้มาพบพระ ดังกล่าวที่โคนต้นสมอพิเภก ซึ่งท่านเจ้าคุณวรพงศ์นำพระไปชะลอไว้ จึงเรียกชื่อของพระตามสถานที่พบว่า “พระโคนสมอ” นอกจากนี้ในครั้งหลังๆ ที่มีการขุดซ่อมแซมต่างๆ ภายในพระราชวังบวรสถานมงคลก็ยังได้พบพระโคนสมอที่เป็นแบบเนื้อดินอยู่อีกเนืองๆ

ที่มาที่ไปของพระโคนสมอนี้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท กรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ 1 ได้ทรงนำพระดังกล่าวมาจากวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อคราวที่พระองค์ท่านเสด็จไปปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดาราม เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในส่วนที่พบในครั้งอื่นๆ ก็มีที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกหลายวัดในองค์พระเจดีย์ และที่ในกรุงเทพฯ ก็มีพบบ้าง

ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีการชะลอมาจากพระนครศรีอยุธยาเช่นกัน แต่โดยส่วนมากจะพบแต่พระโคนสมอแบบเนื้อดินแทบทั้งสิ้น ซึ่งพระที่พบแบบเนื้อดินนั้นจะเป็นพระปางประจำวันเกิดเสียเป็นส่วนใหญ่และพบพระที่มีการลงรักปิดทองล่องชาดกับพระที่ไม่ได้ปิดทองก็มี แต่พระที่มีการลงรักปิดทองจะมีภาษีกว่าในด้านสนนราคา

พระโคนสมอที่เป็นพระเนื้อชินเงินนั้น เท่าที่รู้มาจะพบที่พระราชวังสถานมงคลเพียงแห่งเดียว ที่อื่นๆ นั้นยังไม่ทราบข้อมูล และพระเนื้อชินจะมีขนาดย่อมกว่าพระเนื้อดินมากโขอยู่เหมือนกันครับ ความนิยมจะนิยมพระเนื้อชินมากกว่าพระเนื้อดิน ในส่วนของศิลปะเท่าที่เห็นนั้น สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะแบบอยุธยายุคปลาย สังเกตง่ายๆ จากซุ้มของพระโคนสมอจะเห็นทำเป็นคล้ายเจดีย์ย่อมุมไม่สิบสอง ที่นิยมสร้างในสมัยอยุธยาครับ พุทธคุณของพระโคนสมอนั้น ที่ประจักษ์กันมาก็ในด้านอยู่ยงคงกระพัน และแคล้วคลาดครับ ในวันนี้ผมได้นำรูปพระโคนสมอเนื้อชินเงินพิมพ์ห้อยพระบาท ซึ่งเป็นพิมพ์นิยม จากหนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทยมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน