พระสารคามมุนี อดีตเจ้าคณะสารคาม

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

คอลัมน์อริยะโลกที่ 6 – พระสารคามมุนี (สาร พุทธสโร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม รูปที่ 5 พระเถระที่สร้างคุณูปการให้กับวงการสงฆ์มหาสารคาม ทั้งการศึกษา การพัฒนาเสนาสนะ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ในยุคสมัยที่ยังดำรงธาตุขันธ์ ชาวเมืองมหาสารคามเรียกท่านว่า “ท่านเจ้าคุณใหญ่”

มีนามเดิม “สาร ภวภูตานนท์ ณ มหา สารคาม” เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2428 ที่บ้านใต้นางใย ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม บุตรของ นายเมืองแสน สุวรรณดี และ นางกำมา ภวภูตานนท์

อายุ 17 ปี ครอบครัวส่งให้เข้าเรียนอักขรสมัยหนังสือไทย อยู่ในวัดอุทัยทิศ (สมัยก่อนเรียกว่า วัดใต้นางใย) พร้อมศึกษาอักขรสมัย ศึกษาเล่าเรียนได้ชำนิชำนาญอย่างรวดเร็ว จนได้รับความยกย่องจากครูบาอาจารย์

อายุครบ 20 ปี อุปสมบท ที่อุโบสถวัดอุทัยทิศ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2448 โดยมีพระครูโยคีอุทัยทิศ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดชัย วัดอุทัยทิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์ดี วัดอุทัยทิศ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า พุทธสโร

พำนักอยู่ที่วัดอุทัยทิศ ในปี พ.ศ.2249 พระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) เห็นว่า เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ จึงนำท่านไปฝากที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ เป็นเวลา 14 ปี ศึกษามูลกัจจายนะ ที่สำนักสมเด็จพระ วันรัต (เผื่อน)

ต่อมา พ.ศ.2454 สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) อนุมัติให้ เข้าอบรมศึกษาเล่าเรียนบาลีไวยากรณ์และนักธรรมบาลี จนมีความรู้ชำนิชำนาญ เข้าสอบนักธรรมตรี ในสนามหลวง ได้รับประกาศ นียบัตร ในปี พ.ศ.2458 ท่านเป็นผู้มีอุตสาหะเชี่ยวชาญทาง พระธรรมวินัย ได้รับคำนิยมยกย่องจากพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ ในขณะนั้น

เมื่อปี พ.ศ.2461 พระเจริญราชเดช ซึ่งเป็นญาติชั้นผู้ใหญ่ มีหนังสือไปอาราธนาท่านเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ที่จังหวัดมหาสารคาม แต่ท่านขอเวลาศึกษาเล่าเรียนต่อไป

เมื่อพระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์) ถึงแก่อนิจกรรม นายทองดี อัตถากร จึงเดินทางไปรับมาในงานพระราชทาน เพลิง หลังจากเสร็จพิธีแล้ว จึงกราบอาราธนาให้ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาชัย เพื่อเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แต่ยังอยากศึกษาพระธรรมวินัยที่ลึกซึ้งต่อไปอีก

ญาติโยมเห็นว่าจังหวัดมหาสารคามทั่วทุกอำเภอ ขณะนั้นมี 6 อำเภอ ยังไม่มีครูพระปริยัติธรรมที่มีความเชี่ยวชาญ จึงได้ปรึกษาหารือกับบรรดามัคนายกวัดต่างๆ เห็นว่าท่านผู้นี้สมควรเป็นครูสอนที่สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนา

จึงมอบหมายให้นายทองดี เดินทางติดตามลงไปหาท่านถึงวัดพระเชตุพนฯ ทั้งรับรองว่าจะเป็นโยมอุปัฏฐากและทำนุบำรุงวัดมหาชัย จนเต็มความสามารถตลอดชีวิต

จึงรับนิมนต์เดินทางกลับมายังจังหวัดมหาสารคาม ในปี พ.ศ.2462 และจำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจอยู่วัดมหาชัยแห่งนี้ตราบจนวาระสุดท้ายของท่าน

พระสารคามมุนีได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมและเป็นผู้จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนวัดมหาชัย ตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ มุ่งมั่นพัฒนาการเรียนการสอนให้ เป็นระเบียบ ส่งผลให้สำนักเรียนวัดมหาชัย ในสมัยนั้นมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ท่านยังเรียนรู้ระบบบริหารงานปกครองคณะสงฆ์ จนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เป็นที่ไว้วางใจของคณะสงฆ์ว่ามีความรู้ความสามารถ ในปี พ.ศ.2471 ร่วมกับญาติโยมที่มีจิตศรัทธาสร้างอุโบสถ 1 หลัง ที่วัดมหาชัย และพ.ศ.2473 ได้สร้างพระประธานไว้ในอุโบสถ

ในครั้งนั้นยังได้จัดสร้างเหรียญที่ ระลึกพระแก้วมรกตขึ้นจำนวนหนึ่ง แจกจ่ายแก่ญาติโยมที่มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญ ปัจจุบันกลายเป็นเหรียญที่มี อายุเก่าแก่ที่สุด

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2465 เป็น เจ้าคณะอำเภอเมืองมหาสารคาม พ.ศ.2469 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2475 เป็นเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2477 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูสารคามมุนี พ.ศ.24 80 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะจังหวัดชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2482 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสารคามมุนี ศรีสินธุคณาภิบาล สังฆปาโมกข์

พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระสารคามมุนี ศรีสินธุคณาภิบาล ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

สุดท้ายมรณภาพอย่างสงบ เมื่อ วันที่ 15 มี.ค.2504 สิริอายุ 76 ปี พรรษา 56

เชิด ขันตี ณ พล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน