คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง

“วัดอรุณราชวราราม” ตั้งอยู่ที่ 34 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ เป็นวัดไทยอีกแห่งหนึ่ง ที่เป็นหน้าเป็นตาของเมืองไทย มีบรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกล่าวขวัญถึงความโดดเด่นของพระปรางค์ ที่ปรากฏริมแม่น้ำเจ้าพระยาอันงดงามมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานครด้วย

พระปรางค์สูง 81.85 เมตร วัดรอบฐาน 234 เมตร ล้อมรอบด้วยปรางค์ทิศ และมณฑปทิศ องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องทำเป็นลวดลายต่างๆ สวยงามมาก ปรางค์ทิศเป็นปรางค์องค์เล็กๆ อยู่ทิศละองค์ คือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้

แต่ในช่วงปลายปี 2554 พระปรางค์วัดอรุณฯ ประสบปัญหาชำรุดทรุดโทรม และได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย อีกทั้งในช่วงหน้าฝนปีนั้น ผลจากพายุฝนและลมแรง ทำให้เศษถ้วยกระเบื้องต่างๆ ที่ประดับพระปรางค์ มีสภาพหลุดล่อน

พระศากยปุตติยวงศ์ (ต่อศักดิ์ สุนทรวาที) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า วัดอรุณฯ ร่วมกับกรมศิลปากร ดำเนินการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 100 ปี โดยใช้เวลาบูรณะมากว่า 4 ปีแล้วนั้น

ขณะนี้ในส่วนของการดำเนินการภาพรวมทั้งพระปรางค์องค์ประธาน และพระปรางค์องค์รอง ใกล้จะดำเนินเสร็จแล้ว เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดในส่วนฐานขององค์พระปรางค์องค์ประธานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยวัดจะดำเนินการรื้อถอนนั่งร้านออก เมื่อเสร็จสิ้นพิธีอัญเชิญกระดิ่งทองคำ จำนวน 4 ใบ น้ำหนักใบละ 1 กิโลกรัม ประดิษฐานทั้งสี่ทิศของพระมหามงกุฎบนยอดพระปรางค์องค์ประธาน

ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมการจะจัดพิธีดังกล่าว ตามวัน-เวลา ที่มีความเหมาะสม และหลังจากเสร็จสิ้นพิธีอัญเชิญกระดิ่งทองคำ จะจัดพิธีสมโภชพระปรางค์ 10 วัน 10 คืน ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 100 ปีด้วย

โดยการจัดพิธีสมโภชพระปรางค์ครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดที่เคยมีการบันทึกไว้คือ จัดขึ้นเมื่อครั้งมีการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

สำหรับกระดิ่งทองคำนั้น วัดอรุณฯ จัดทำขึ้นเป็นกรณีพิเศษ แล้วเสร็จเมื่อช่วงปลายปี 2559 ซึ่งจะมีการอัญเชิญไปประดิษฐานสี่ทิศรอบพระมหามงกุฎ เหนือยอดนภศูล บนยอดพระปรางค์องค์ประธาน ซึ่งได้มีการบูรณะเสร็จสิ้นไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่กลางปี 2559

โดยใช้วิธีโบราณคือการเปียกทอง หรือหุ้มทองคำแท้น้ำหนัก 3 กิโลกรัม พร้อมประดับอัญมณี 1,955 เม็ด พระมหามงกุฎดังกล่าว ถือว่าเป็นแห่งเดียวในโลกที่ประดิษฐานอยู่เหนือยอดนภศูล

ทั้งนี้ การบูรณะพระปรางค์พระมหามงกุฎ รวมถึงการจัดสร้างกระดิ่งทองคำ เพื่อประดิษฐานสี่ทิศรอบพระมหามงกุฎนั้น วัดอรุณฯ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ต่างพร้อมใจกันดำเนินการเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้ง 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมิน ทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 รวมทั้งเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประเทศชาติด้วย

“ในส่วนพิธีสมโภชที่ทางวัดจะจัดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นพิธีอัญเชิญกระดิ่งทองคำแล้วนั้น มีแนวคิดที่จะเชิญคณะทูตานุทูตจากทุกประเทศที่มีสถานทูตอยู่ในประเทศไทยมาร่วมพิธีด้วย เนื่องจากพระปรางค์วัดอรุณฯ ถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ที่สำคัญ ยังเพื่อต้องการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักประเทศไทยอีกด้วย เพื่อเดินทางมาชมความงดงามสถาปัตยกรรมไทย รวมถึงศิลปวัฒนธรรมไทย ที่จะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน