ผ้าป่าสามัคคีชุมชนบ้านส่อง

ฟื้นฟู ส่างแซง บ่อน้ำโบราณ

ผ้าป่าสามัคคีชุมชนบ้านส่อง – ชุมชนบ้านส่อง ทั้งคุ้มส่องเหนือและส่องใต้ ตั้งอยู่เขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม จัดงานผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาเงินสมทบทุนอนุรักษ์และฟื้นฟู “ส่างแซง” คือ บ่อน้ำดื่มโบราณประจำชุมชนอายุกว่า 100 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพตื้นเขิน ขาดการดูแล ด้วยชุมชนไม่ได้ใช้น้ำในบ่อนี้ในการบริโภคมานานหลายสิบปี เนื่องจากหันไปใช้น้ำประปาแล้ว

ผ้าป่าสามัคคีชุมชนบ้านส่องฟื้นฟู ส่างแซง

พิธีทอดผ้าป่าสามัคคีครั้งนี้ จัดขึ้นภายในบริเวณป่าสาธารณประโยชน์ดอนตาปู่ ที่สิงสถิตของผีตาปู่ ชื่อ ขุนแสง ชุมชนทั้งส่องเหนือและส่องใต้ ให้ความเคารพนับถือว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่คอยปกปักรักษา ในแต่ละปีจะมีพิธีเซ่นไหว้เลี้ยงผีตาปู่กันหลายครั้ง

พิธีทอดผ้าป่าเริ่มขึ้น พระครูสุตบูรพา ภิมณฑ์ เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม (ส่องใต้) พร้อมคณะสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ให้ศีลผู้ที่มาร่วมทำบุญ จากนั้นชาวบ้านทั้งสองชุมชนร่วมถวายต้นผ้าป่า และถวายภัตตาหารเพล เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความรักความสามัคคีให้กับคนในชุมชน

ยอดเงินผ้าป่าจำนวนกว่า 6.5 หมื่นบาท โดยจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการบูรณะส่างแซงให้กลับคืนสภาพเดิม

ผ้าป่าสามัคคีชุมชนบ้านส่องฟื้นฟู ส่างแซง

ผ้าป่าสามัคคีชุมชนบ้านส่องฟื้นฟู ส่างแซง

พระครูสุตบูรพาภิมณฑ์กล่าวว่า ส่างน้ำแห่งนี้มีอายุเกินร้อยปี ชุมชนบ้านส่องมีการอพยพมาตั้งเป็นชุมชน ประมาณปี พ.ศ.2345 เมื่อตั้งเป็นชุมชนก็ต้องมีการขุดส่าง หรือบ่อน้ำไว้สำหรับดื่มกิน บ่อแห่งนี้จึงอยู่คู่ชุมชนบ้านส่องมาตั้งแต่ตั้งบ้านเรือนตราบจนปัจจุบัน

และถึงแม้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในบ่อนี้แล้วก็ตาม แต่ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาเวลามีงานพุทธาภิเษก หรือพิธีปัดรังควาน รวมทั้งงานพิธีสำคัญทางศาสนา ก็จะมาตักเอาน้ำในบ่อโบราณแห่งนี้ไปเข้าร่วมพิธีโดยตลอด เปรียบเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

สำหรับส่างแซงแห่งนี้มีความกว้างประมาณ 1.80 คูณ 1.80 เมตร ลึกประมาณ 10 เมตรเศษ จากการสอบถามผู้สูงอายุในชุมชน ทราบว่าน้ำในบ่อไม่เคยแห้ง มีน้ำเกือบเต็มบ่ออยู่ตลอดเวลาและสีน้ำจะใส จึงเป็นส่างน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนชาวบ้านส่อง รวมทั้งหมู่บ้านข้างเคียงยาวนานนับร้อยปี นี่คือความสำคัญของส่างน้ำโบราณแห่งนี้

ผ้าป่าสามัคคีชุมชนบ้านส่องฟื้นฟู ส่างแซง

นอกจากนี้ ชุมชนมีโครงการที่จะหาเงินสร้างหลังคาคลุมบริเวณส่างแซงทั้งหมด พร้อมปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงาม เป็นที่สถานที่พักผ่อนหย่อนใจไปด้วย

ด้านนายธีระชัย บุญมาธรรม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามให้ความเห็นว่า การหาจุดที่จะขุดบ่อน้ำดื่มเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะหากไม่มีบ่อน้ำดื่มก็ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้คนอีสานจะเรียกบ่อน้ำ ว่า “ส่าง” แต่การจะขุดส่างบริเวณใดเมื่อขุดลงไปจึงจะเจอน้ำนั้นภูมิปัญญาอีสานแต่ละพื้นที่ทำแตกต่างกันไป อาทิ ชุมชนบ้านส่องที่มีการอนุรักษ์ส่างโบราณ

ผ้าป่าสามัคคีชุมชนบ้านส่องฟื้นฟู ส่างแซง

ผ้าป่าสามัคคีชุมชนบ้านส่องฟื้นฟู ส่างแซง

จากคำบอกเล่าต่อกันมา การหาสถานที่ขุดส่างหาน้ำกินในสมัยนั้นใช้หมอส่อง หรือหมอธรรมที่มีวิชาอาคม สามารถมองทะลุว่าจุดใดที่จะมีน้ำใต้ดินแล้วชี้ให้ขุดบริเวณนั้น ซึ่งเมื่อขุดลงไปก็เจอตาน้ำจริงๆ นอกจากนั้นบางพื้นที่จะใช้วิธีการสำรวจโดยขุดลงในดินลึกประมาณคืบเศษ

ความยาวประมาณศอกเศษ แล้วเอาพวกใบกล้วยซึ่งหาง่ายในท้องถิ่นวางลงไป เอาถ้วยกระเบื้องครอบไว้ ตอนเช้ามาดูหากพบว่ามีน้ำเกาะอยู่เพดานก้นถ้วยจำนวนมากก็สันนิษฐานว่าบริเวณนั้นน่าจะมีน้ำใต้ดินจำนวนมาก หากพบว่ามีน้ำเกาะอยู่น้อยก็ว่าใต้ดินมีน้ำน้อยก็ต้องย้ายหาที่ใหม่ต่อไป

ผ้าป่าสามัคคีชุมชนบ้านส่องฟื้นฟู ส่างแซง

กรณีที่ชุมชนบ้านส่องอนุรักษ์ฟื้นฟู “ส่างแซง” ทำไมจึงมีคำว่า “แซง” ต่อท้าย เนื่องจากบ่อน้ำแห่งนี้ภายในผนังบ่อมีกระดานแผ่นไม้ตัดพอดีกับความกว้างความยาวของบ่อกั้นผนังไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยเรียงแผ่นไม้ต่อกันตั้งแต่ก้นบ่อขึ้นมาจนถึงปากบ่อ จึงเรียกว่า แซง หากส่างไหนมีแซงคนอีสานก็จะเรียกว่า “ส่างแซง”

ชุมชนบ้านส่องจึงร่วมใจอนุรักษ์ฟื้นฟูส่างแซงไว้เป็นบ่อน้ำโบราณอยู่สืบไป

เชิด ขันตี ณ พล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน