หลวงพ่อทองสุข อินทสาโร

วัดสะพานสูง ปากเกร็ด

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงพ่อทองสุข อินทสาโร – วันพุธที่ 11 มี.ค. 2563 น้อมรำลึกครบรอบ 117 ปี ชาตกาล “หลวงพ่อทองสุข อินทสาโร” แห่งวัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี วัดที่มีชื่อเสียงในหมู่นักสะสมพระเครื่อง ด้วยมีวัตถุมงคลพระปิดตาที่จัดสร้างโดยหลวงปู่เอี่ยม เจ้าอาวาสรูปแรก

ในรุ่นถัดมา มีศิษย์ผู้สืบสายพุทธาคมจากท่าน นอกจากหลวงปู่กลิ่น จันทรังสี ก็คือ หลวงพ่อทองสุข นั่นเอง

สร้างความเจริญให้วัดและเป็นปูชนียสงฆ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้านในย่านนั้น

เกิดเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2446 ที่บ้านหนองไผ่เหลือง ต.หนองขนาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นบุตรนายคง นางแพ บุญมี มีพี่น้องรวม 5 คน ท่านเป็นคนสุดท้อง

เมื่ออายุ 11 ขวบ ศึกษาหนังสือไทยและขอมที่วัดหนองหว้า อยู่กับอาจารย์จ้อน อาจารย์สาย และอาจารย์นิ่ม

พออายุ 13 ปีได้ออกจากวัดแล้วไปอยู่กับอาจารย์ที่ จ.ราชบุรี ประมาณ 5 ปี ก่อนที่จะกลับมาอยู่กับบิดามารดา ทำนาหาเลี้ยงชีพบ้านเกิด กระทั่งอายุ 20 ปี ได้ถูกเกณฑ์ทหารเป็นทหารราบ รับราชการอยู่ถึง 2 ปีกับ 1 เดือน แล้วจึงสมัครมาเป็นตำรวจภูธรได้ยศเป็น สิบตำรวจตรี

หลวงพ่อทองสุข อินทสาโร

เป็นตำรวจประจำเพชรบุรีอยู่ 2 ปี แล้วถูกย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด คือ พัทลุง, ชุมพร, ด่านสะเดา, สงขลา จนได้รับยศเป็น สิบตำรวจโท แล้วย้ายไปอยู่นราธิวาส, สตูล, อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี, อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ, สุรินทร์

จนครั้งสุดท้ายย้ายมาอยู่เพชรบุรีอีก 1 ปีก่อน ก่อนจะเบื่อหน่ายจึงลาออกและเข้าอุปสมบทเมื่อปีพ.ศ. 2470 ที่วัดนาพรม มี หลวงพ่อหวล เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ผ่องเป็นพระกรรมวาจาจารย์

จากนั้นได้ไปจำพรรษาที่วัดหนองหว้า 1 พรรษา ได้ศึกษาวิชาอาคมจาก หลวงพ่อหวล (หลวงน้าของหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก) แล้วไปเรียนกับหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง, หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง

เมื่อเรียนอาคมมามากแล้ว ทั้งได้เรียนด้านปริยัติธรรมจนได้นักธรรมโท จึงมุ่งหน้าออกเดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร

แม้แต่อรัญประเทศ ปราจีนฯ ดินแดนที่เต็มไปด้วยยาสั่ง ก็ไม่หวั่นกลัวแต่อย่างใด มีพวกที่ลองวิชาและคิดทำร้ายหลายครั้งหลายครา แต่ไม่อาจทำอะไรท่านได้

ต่อมามีพระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งชื่ออาจารย์เพ็ง จำพรรษาอยู่ที่วัดสะพานสูง นนทบุรี ได้เดินธุดงค์มาพบกันจนคุ้นเคยและชักชวนให้เดินทางมาด้วยกัน โดยจำพรรษาที่วัดท่าเกวียน ต. ท่าข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

อยู่ที่นี่ได้ 3 พรรษา ขณะนั้นวัดท่าเกวียน ยังไม่มีสำนักเรียนธรรม ท่านจึงย้ายมาอยู่วัดสะพานสูงเพื่อมาศึกษาปริยัติธรรม มีพระครูโสภณศาสนกิจ (หลวงปู่กลิ่น) เป็นเจ้าอาวาส มีอาจารย์เพ็งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม

พ.ศ.2475 สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2476 สอบได้นักธรรมชั้นโท ในขณะนั้นวัดสะพานสูงขาดครูสอนพระปริยัติธรรม หลวงปู่กลิ่นจึงมอบหมายให้ท่านทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมตลอดมา และถ่ายทอดตำราเวทมนตร์คาถาต่างๆ เช่น ลงตะกรุด ทำผง พระปิดตาทำน้ำมนต์ ให้จนหมดสิ้น

หลังสิ้นหลวงปู่กลิ่นแล้ว ก็รับภาระหน้าที่ปกครองวัดมาตั้งแต่ พ.ศ.2492 เป็นต้นมา

พ.ศ.2501 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครู นนทกิจโสภณ พ.ศ.2503 เป็นเจ้าคณะตำบลคลองพระอุดม พ.ศ.2508 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

อบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรให้อยู่ในธรรมวินัย ให้การศึกษาแก่พระเณร ตลอดจนผู้ที่อาศัยอยู่ในวัดได้รับความสุข

บั้นปลายชีวิต ยังคงทำงานหนักให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไปที่มาให้ท่านสงเคราะห์แต่เช้าจรดเย็น รวมทั้งงานของคณะสงฆ์จนทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลหลายครั้งด้วยโรคชราและโรคปวดศีรษะ

ถึงวันที่ 20 มี.ค.2525 เกิดอาพาธปวดท้องอย่างรุนแรง ลูกศิษย์นำส่งโรงพยาบาลเข้ารับการรักษา

กระทั่งวันที่ 7 เม.ย.2525 เวลา 08.00 น. มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุ 79 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน