คาถา

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม

คาถา – ขอละจากคติ สัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไปสู่คติ สัญลักษณ์ของคำว่า คาถา อันเนื่องมาจากความตื่นตระหนกของไข้หวัดโควิด-19 ที่มีคาถาของผู้ปฏิบัติธรรม หรือ สวดมนต์ขับไล่ไวรัสร้าย

คาถาก็ดี การสวดมนต์ก็ดี แม้แต่การลงเลขสักยันต์ของคนไทยที่นับถือพุทธศาสนาแต่โบราณนั้น หาได้มีไว้เพื่อการเฉพาะความมีโชค การป้องกันภยันตราย ภูตผีปีศาจ ความโชคร้าย อย่างที่เชื่อถือกันในปัจจุบัน

แต่คาถาหรือบทสวดต่างๆ นั้น แท้จริงก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ครูบาอาจารย์ได้ย่อคำเหล่านั้นเพื่อเตือนสติ สร้างปัญญาให้แก่ผู้ใช้หรือผู้สวดคาถานั้น

เพื่อความชัดเจนของวัตถุประสงค์นี้ จึงไปอาราธนาอาจารย์ระดับพระราชาคณะรูปหนึ่ง (ที่ขอสงวนนาม) เพื่อแปลความหมายของคาถาที่ครูบาบุญชุ่มได้กล่าวไว้

เริ่มจาก สาตุ ทะ สะนะ ขะ สะมัง วิสาตุ

สาตุ = ดี

ทะ = ทันโต ทะมะยตัง เสฏโฐ

แปลว่า ผู้ฝึกตนเป็นผู้ประเสริฐกว่าผู้ฝึกทั้งหลาย

สะ = สันโต สมยะตัง อิสิ

เป็นฤๅษีผู้สงบและประเสริฐกว่าผู้สงบทั้งหลาย

นะ = นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง

สุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบไม่มี

ขะ = ขันติ ธีรัสฺส ลงเถโร

ความอดทน เป็นเครื่องประดับของนักปราชฌ์

สมัง = เสมอ = สงบ

วิสาตุ = ดีพิเศษ

สรุปคือ การที่จะเป็นผู้เจริญหรือประเสริฐทั้งในทางโลกและทางธรรม อันนำไปสู่ความสุขที่เรียกว่า ความสงบ อันเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตนั้น

จงเป็นผู้ฝึกตน อดทน อดกลั้น ต่อบาปทั้งปวง

พ้องกับคาถาอีกบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนที่ฝึกดีแล้วจึงจะเป็นที่พึ่งแห่งตนได้”

หาได้เป็นคาถาที่ท่องบ่นแล้วจะพ้นจากเหตุเภทภัยธรรมชาติได้

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน