ชมรมชายผ้าเหลืองวัดห้วยยอด

เยียวยา-เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย

ชมรมชายผ้าเหลืองวัดห้วยยอด เยียวยา-เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย – ภาพความประทับใจจากการรวมตัวกันของพระภิกษุ แม่ชี แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชน จิตอาสา รวมทั้งเด็กและเยาวชน ในชุมชนห้วยยอด อำเภอเก่าแก่ในพื้นที่ จ.ตรัง ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำเหมืองและตั้งรกรากในอดีต อยู่อาศัยจนถึงปัจจุบัน ร่วมใจกันเดินเท้าไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามบ้านเรือนต่างๆ ถือเป็นกิจกรรมเด่นที่กำลังได้รับการจับตามอง พร้อมทั้งได้รับยกย่องกันอย่างกว้างขวาง

ดูเหมือนจะเป็นชุมชนเพียงแห่งเดียวของภาคใต้ที่สามารถทำได้สำเร็จ ภายใต้กิจกรรมที่มีชื่อว่า “ห้วยยอดโมเดล”

ชมรมชายผ้าเหลืองวัดห้วยยอด เยียวยา-เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย

ทั้งนี้ มีจุดกำเนิดมาจาก พระกฎษดา ขันติกโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดห้วยยอด วัดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในเขตเทศบาลตำบลห้วยยอด ที่ได้แรงบันดาลใจจากโครงการดูแลผู้ป่วยข้างเตียงและเผชิญความตายอย่างสงบของพระไพศาล วิสาโล และพระสงฆ์กลุ่มคิลานธรรม ก่อนนำไปหารือกับหน่วยพาลลิเอทีฟแคร์ (Palliative care : การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง) โรงพยาบาลห้วยยอด ก่อนรวมกลุ่มจัดทีมลงเยี่ยมผู้ป่วยเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะค่อยๆ สร้างเครือข่ายจิตอาสา เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างจริงจัง

ชมรมชายผ้าเหลืองวัดห้วยยอด เยียวยา-เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย

ชมรมชายผ้าเหลืองวัดห้วยยอด เยียวยา-เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย

จากโครงการถุงชายผ้าเหลือง เพื่อนำอาหารแห้งที่ได้รับบริจาคจากการตักบาตรไปเยี่ยมผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้ขยายกิจกรรมมาเป็นโครงการข้าวก้นบาตรเติมใจผู้ป่วย เพื่อรับบริจาคอาหารบิณฑบาตจากพระสงฆ์ในวัด ไปให้ผู้ป่วยและญาติใน ร.พ. จนเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย วัดห้วยยอด” เพื่อต้องการออกไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องนอนติดเตียงอยู่ในชุมชนต่างๆ ที่มีอยู่ประมาณ 60 ราย แต่ทุกรายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

ชมรมชายผ้าเหลืองวัดห้วยยอด เยียวยา-เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย

ชมรมชายผ้าเหลืองวัดห้วยยอด เยียวยา-เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย

การเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน มิใช่เพียงแค่การนำธรรมะลงไปเท่านั้น ยังมีการสนับสนุนระบบสาธารณสุขเพิ่มเติมให้ด้วย เช่น อาหาร นม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ฯลฯ สำหรับผู้ป่วยที่ขาดแคลน ซึ่งได้มาจากการรับบริจาค รวมทั้งกิจกรรมตักบาตรยาและอาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย ก่อนที่จะขยายผลมาเป็นการระดมทุนจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่ผู้ป่วยที่ขาดแคลน เนื่องจากการดำเนินงานในช่วงหลัง เริ่มขยายวงกว้างออกไปสู่พื้นที่รอบนอกมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลห้วยยอดเท่านั้น

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในแต่ละชุมชน ยังถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในฐานะคนกลางประสานความช่วยเหลือระหว่างผู้ป่วยกับชมรมชายผ้าเหลือง จนกว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิต และยังไปร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมด้วย ซึ่งถือเป็นการดูแลตลอดกระบวนการ ทำให้ชมรมกับครอบครัวผู้ป่วยเกิดความผูกพันกัน บางครอบครัวเมื่อญาติเสียชีวิตไปแล้ว ก็จะกลับมาช่วยงานชมรมต่อ โครงการนี้ จึงมีผลต่อการเยียวยาจิตใจอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยบางคนที่ไม่สามารถเดินทางไปวัด เพราะต้องนอนติดเตียง ไม่มีใครไปเยี่ยมที่บ้านนานแล้ว

ชมรมชายผ้าเหลืองวัดห้วยยอด เยียวยา-เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย

ชมรมชายผ้าเหลืองวัดห้วยยอด เยียวยา-เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย

ทุกวันนี้ ชมรมชายผ้าเหลืองยังคงเดินหน้าเยียวยา กรุณา พึ่งพา เกื้อกูล ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ภายใต้กิจกรรมที่จัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการสวนผักเขียวเยียวยาผู้ป่วย (โครงการสร้างอาชีพแก่ครอบครัวผู้ป่วย), โครงการสังฆทานข้างเตียง, โครงการธรรมะปฏิบัติวันอาทิตย์ และกิจกรรมเสวนาธรรมเพื่อการเยียวยา โครงการส่งสู่สงบ จากเตียงสู่เชิงตะกอน เป็นต้น

โดยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและความตาย หรือนำสู่จุดหมายของการจากไปอย่างสงบ เย็น และเป็นประโยชน์นั่นเอง

เมธี เมืองแก้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน