หลวงปู่คำตา ทีปังกโร

วัดป่าภูคันจ้อง อุดรธานี

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่คำตา ทีปังกโร วัดป่าภูคันจ้อง อุดรธานี คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6- วันพฤหัสบดีที่ 2 เม.ย.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 93 ปี ชาตกาล “หลวงปู่คำตา ทีปังกโร” วัดป่าภูคันจ้อง บ้านคำด้วง ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พระป่าสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากสาธุชน

ชาติกำเนิด ในสกุล ศรบัว เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เม.ย.2470 ตรงกับปีเถาะ ที่บ้านโนนซาติ ต.นาดี อ.สุวรรณคูหา จ.อุดรธานี บิดา-มารดา ชื่อ นายผงและนางผา ศรบัว ท่านมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา เดียวกัน 5 คน

อายุ 21 ปี ได้รับคัดเลือกเป็นทหารเกณฑ์ หลังปลดประจำการ เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระฝ่ายมหานิกาย 1 พรรษา อายุ 23 ปี เมื่อลาสิกขาแล้ว แต่งงานมีครอบครัว

ครั้งหนึ่งชักชวนหมู่เพื่อนและญาติพี่น้อง สร้างวัดสำหรับพระกัมมัฏฐานขึ้นที่ผาด้วง ซึ่งมีพระกัมมัฏฐานมาพักภาวนาอยู่เป็นประจำ ท่านไปอุปัฏฐากและฟังเทศน์ จนเกิดความเลื่อมใสในการปฏิบัติภาวนาของพระธุดงค์

ต่อมาไม่มีพระอยู่จำพรรษา ชักชวนญาติพี่น้องนิมนต์พระเพื่อมาอยู่จำพรรษา โดยเดินทางไปที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย ซึ่งมีหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นประธานสงฆ์

การไปนิมนต์พระครั้งนั้น ไม่มีพระรับนิมนต์ แต่ได้ข้อคิด หลวงปู่ชอบ ให้โอวาทว่า “การหาพระไปอยู่วัดมันยาก สู้เราบวชเองไม่ได้ สร้างเราให้เป็นพระ เมื่อฝึกใจของเราให้เป็นพระโดยสมบูรณ์แล้ว เราก็ไม่ต้องไปหาพระภายนอกให้ลำบากอีกต่อไป พวกเรามันโง่ แสวงหาแต่พระภายนอก ให้พากันบวชเอา แล้วไปอยู่วัด”

จึงเริ่มแสวงหาครูบาอาจารย์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ขณะนั้นวัดเทพธารทอง ต.แก้งไก่ อ.สังคม จ.หนองคาย มีชื่อเสียงมากในการปฏิบัติ ท่านจึงมอบทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดให้แก่ภรรยาและลูก ทุกคน ซึ่งสามารถเลี้ยงชีวิตโดยไม่ลำบาก ตัดสินใจลาออกบวช โดยมุ่งหน้าสู่วัดเทพธารทอง

ท่านเดินทางฝากตัวเป็นศิษย์ ขอบวชในพระพุทธศาสนากับพระอาจารย์บัวไล ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้รับฝึกหัดขานนาคจนชำนาญจึงอนุญาตให้บวช

เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2517 เมื่ออายุ 48 ปี ที่วัดเทพธารทอง โดยมีพระครูศีลขันธ์สังวร (อ่อนสี สุเมโธ) วัดพระงามศรีมงคล เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูญาณปรีชา (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) วัดอรัญบรรพต เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และพระครูวินัยธร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ‘ทีปังกโร’

กติกาวัดเทพธารทองวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ ห้ามนอน ให้นั่งภาวนาร่วมกันที่ศาลา จนสว่าง ทั้งพระเณรและฆราวาส ที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดต้องถืออย่างเคร่งครัด สำหรับหลวงปู่คำตา มีความพอใจในการปฏิบัติแบบนี้ เพราะจะได้ทรมานกิเลสตัวที่เห็นแก่หลับแก่นอน จิตของหลวงปู่สงบง่าย

ต่อมา จึงตัดสินใจลาพ่อแม่ครูอาจารย์ออกเที่ยวธุดงค์ เพื่อแสวงหาที่สงบในการทำลายกิเลสตัณหาที่ยังบังคับจิตใจ ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ กระทั่งเดินธุดงค์ขึ้นสู่ภูคันจ้อง ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ภูคันจ้อง ลักษณะเป็นภูเขาสูงโดดเด่นอยู่บนเทือกเขาภูพาน บนยอดภูมีเพิงหินและถ้ำ สามารถอยู่ภาวนาโดยไม่ต้องทำกุฏิ หลวงปู่คำตาเดินสำรวจดูแล้วรู้สึกถูกใจมาก เพราะอยู่ไกลจากหมู่บ้าน ห่างไกลความเจริญ เหมาะสำหรับทำความเพียรภาวนาเป็นที่สุด

ต่อมาญาติโยมชาวบ้านคำด้วง มีญาติโยมศรัทธาในตัวท่าน ช่วยกันเลื่อยไม้สร้างศาลาหลังเล็กมุงสังกะสี เพื่อรองรับน้ำฝน ก่อนพัฒนาตามลำดับ จนกลายเป็นวัดขึ้นมา

เวลา 14.14 น. วันอังคารที่ 2 ก.ย. 2546 มรณภาพอย่างสงบสิริอายุ 76 ปีพรรษา 30

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน