พระรูปเหมือนหลวงพ่อคำ

วัดหน่อพุทธางกูร

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

พระรูปเหมือนหลวงพ่อคำ – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน หลวงพ่อคำ วัดหน่อพุทธางกูร เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวสุพรรณบุรีเคารพนับถือรูปหนึ่ง หลวงพ่อคำเป็นพระสงฆ์ที่ถือสันโดษ ใจดี ท่านมีความรู้เรื่องแพทย์แผนโบราณ มีชาวบ้านมาขอให้ท่านช่วยรักษาอยู่เนืองๆ

หลวงพ่อคำ จันทโชโต หรือ พระครูสุวรรณวรคุณ เป็นชาวพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เกิดเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 โยมบิดาชื่อฮั้ว โยมมารดาชื่อจันทร์ พออายุได้ 15 ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร จนอายุครบบวชจึงได้อุปสมบทในปีพ.ศ. 2451 ที่วัดมะนาว โดยมีพระครูวินยานุโยควัดอู่ทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดบุญมีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระช้างเป็นพระอนุสาวนาจารย์ และจำพรรษาอยู่ที่วัดมะนาว

ต่อมาเมื่อพระอาจารย์บุญมาซึ่งเป็นญาติของท่าน ได้ย้ายมาจากวัดภาวนาภิตาราม กทม. มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดหน่อพุทธางกูรในปีพ.ศ. 2452 จึงได้ชวนให้หลวงพ่อคำ มาช่วยกันพัฒนาวัดหน่อพุทธางกูร หลวงพ่อคำได้ศึกษาพระธรรมวินัยและอักขระขอมกับพระอาจารย์บุญมาจนแตกฉาน

หลวงพ่อคำช่วยพัฒนาวัดหน่อพุทธางกูรจนเจริญรุ่งเรืองและได้เป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา ท่านเป็นผู้มีเมตตาธรรมสูง ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา หลวงพ่ออบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร และประชาชนให้มีความประพฤติดีประพฤติชอบอยู่เสมอ

พระรูปเหมือนหลวงพ่อคำ

เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านในแถบนั้นมาก นอกจากนี้เรื่องวิชาแผนโบราณของท่านยังช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นนิจ ใครเดือดร้อนเรื่องอะไรก็มักจะไปขอความช่วยเหลือจากท่านตลอด ในสมัยนั้น หน้าร้อนก็มักจะมีโรคพิษสุนัขบ้าอยู่เป็นประจำ

เนื่องจากในสมัยนั้นเรื่องวัคซีนแก้โรคสุนัขบ้านั้นยังไม่มีแพร่หลาย สุนัขเถื่อนมักจะติดโรคนี้และถ้ามีใครผ่านไปเจอก็มักจะโดนกัดและติดเชื้อกันเป็นประจำถ้ารักษาไม่ทันก็จะเสียชีวิต ชาวบ้านในแถบนั้นถ้ามีใครถูกสุนัขบ้ากัดก็จะมาขอให้หลวงพ่อคำรักษาให้

ท่านก็ช่วยรักษาให้หายทุกรายไป จนเป็นที่ร่ำลือไปทั่วว่าชะงัดนัก มีชาวบ้านเมืองสุพรรณไปให้ท่าน ช่วยรักษากันมากมาย และหายได้ทุกรายไป จนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

ในปีพ.ศ. 2498 ลูกศิษย์และชาวบ้านมาขออนุญาตสร้างรูปเหมือนเท่าองค์จริง ท่านก็อนุญาตโดยมัคนายกวัดหน่อฯ ได้ติดต่อช่างปั้นชื่อนายชิ้น มาปั้นรูปเหมือนของท่าน ในการนี้ก็ได้สร้างพระรูปเหมือนองค์เล็ก และสร้างเหรียญรูปอาร์มขึ้นด้วย รูปเหมือนองค์เล็กขนาดห้อยคอนี้สร้างประมาณ 1,000 องค์ มี 2 พิมพ์คือ พิมพ์สังฆาฏิยาวและพิมพ์สังฆาฏิสั้น พิมพ์สังฆาฏิยาวนั้นผ้าสังฆาฏิจะยาวลงมาจนลอดใต้มือลงมา

ส่วนพิมพ์สังฆาฏิสั้นจะไม่ยาวลอดมือ จะอยู่ที่มือของหลวงพ่อพอดี ส่วนเหรียญรูปอาร์มเป็นแบบไม่มีหูเหรียญใช้เจาะรูที่ตัวเหรียญ นอกจากนี้ก็ยังมีสร้างรุ่น 2 รุ่น 3 ต่อมาอีก รวมทั้งเหรียญรุ่นต่อมาอีกด้วย

ปัจจุบันรูปเหมือนรุ่นแรกหายากแล้วครับ ใครมีก็หวงแหนกันมาก ในวันนี้ผม ได้นำรูปเหมือนรุ่นแรก พิมพ์สังฆาฏิยาว มาให้ชมด้วยครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน