พระเนื้อชินเขียวพระเนื้อชินเขียว

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

พระเนื้อชินเขียว – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เราๆ ท่านๆ ผู้นิยมพระเครื่องก็คงจะเคยได้ยินเนื้อพระเครื่องชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเนื้อชินเขียวมาบ้างแล้ว และโดยส่วนใหญ่ก็จะไม่นิยม เนื่องจากเท่าที่พบเป็นพระปลอมประเภทหนึ่งที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีใครสนใจและพระปลอมประเภทนี้ก็มักจะกล่าวอ้างว่าเป็นพระกรุพะเยา หมายถึงเป็นพระของกรุทางจังหวัดพะเยา ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่มีพระกรุทางพะเยาที่เป็นแบบนี้เลย หาที่มาที่ไปไม่ได้ แล้วพระกรุที่เป็นเนื้อชินเขียวมีจริงหรือไม่ ก็ต้องมาหาคำตอบกันครับ

พระเครื่องที่เป็นพระกรุเก่า และสร้างด้วยเนื้อโลหะก็มีอยู่หลายประเภท เช่น เนื้อชินเงิน เนื้อชินตะกั่ว สำหรับเนื้อชินเงินก็ยังแยกออกเป็นชินต่างๆ อีกแล้วแต่การผสมสัดส่วนของโลหะ และก็มีเนื้อชินอีกประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่าชินเขียว ที่เป็นพระแท้มีไหม มีครับและก็มีอยู่หลายกรุเหมือนกัน แต่เนื้อชินเขียวที่เคยออกมาอาละวาดจนคนขยาดไม่กล้าเล่นพระชินเขียวจนคิดว่าพระเนื้อชินเขียวเป็นพระปลอมเสียทั้งหมด ก็เมื่อประมาณ 60-70 ปีก่อนนั้น มีขบวนการปลอมพระกลุ่มหนึ่งได้ทำพระเนื้อชินเขียวขึ้นมา

โดยทำแบบพระที่นิยมกันหลายๆ อย่าง ขบวนการแรกทำกันที่ภาคเหนือ ที่จังหวัดแพร่ หมู่บ้านเชตวัน อำเภอเมือง พระเหล่านี้เมื่อหมักให้เกิดสนิมขึ้นบ้างแล้วก็นำมาขายในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ เมื่อมีคนถามก็ว่าแตกกรุมาจากจังหวัดพะเยา จึงเป็นที่มาของพระชินเขียวพะเยา ซึ่งความจริงทำกันที่แพร่ ต่อมาก็มีคนทำกันอีกหลายที่ทั้งที่กรุงเทพฯ เองก็ทำ และก็อ้างว่าเป็นพระกรุทางพะเยาเช่นเดิม ต่อมาก็มีคนนำความมาเปิดเผยจนรู้กันทั่วไปว่าเป็นพระปลอม แล้วผู้ที่ดูพระเป็นเล่นพระได้ ก็ดูออกก็รู้แต่แรกแล้วว่าเป็นพระที่ยังไม่เก่าอายุไม่ได้ เขาก็ดูจากสนิมต่างๆ ที่องค์พระก็พอรู้ได้ว่าเป็นพระปลอมอายุไม่เก่า

อ้าวแล้วทำไมต้องทำเป็นพระเนื้อชินเขียวด้วย ครับก็พระเนื้อชินเขียวนั้นของเก่าเขาก็มีจริงๆ และพุทธคุณก็เด่นทางด้านอยู่ยงคงกระพันเสียด้วย จึงมีคนนิยมกันมาก เช่น พระยอดอัฏฐารส กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก พระร่วงทรงเกราะของสุโขทัย เป็นต้น สนนราคาสูงมาแต่โบราณเนื่องจากพุทธคุณเด่นชัดและมีประสบการณ์มากมาย มีคนเสาะหากันมาก่อนปีพ.ศ.2500

นอกจากนี้ เนื้อชินเขียวยังพบที่ทำเป็นเงินพดด้วงโบราณสมัยสุโขทัย และยังพบในกรุสมัยอยุธยาอีก เช่นตะปูสังฆวานรที่ใช้เป็นสลักตอกตรึงในการสร้างพระอุโบสถวิหาร และพบที่อยู่ในกรุเจดีย์สมัยอยุธยายังพบเครื่องรางรูปช้างที่เป็นเนื้อชินเขียว ที่นิยมนำมาเป็นเครื่องรางของขลังอีกด้วย ตะปูสังฆวานรที่พบในกรุหรือตามซากโบราณสถานนั้นเป็นที่เชื่อถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว เพราะมักพบอยู่ตามซากโบสถ์วิหารในสมัยอยุธยา เชื่อกันว่าผ่านการสวดมนต์มานับครั้งไม่ถ้วน นิยมนำมาเป็นเครื่องรางของขลัง และนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเนื้อโลหะต่างๆ ถือว่าเป็นของอาถรรพณ์ เป็นต้น

ทีนี้เมื่อในยุคหนึ่งที่มีการนิยมชินเขียวมากจึงมีนักปลอมแปลงหาผลประโยชน์ทำเนื้อชินเขียวปลอมขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ส่วนมากจะทำเป็นรูปพระเครื่องที่นิยมกันอยู่แล้วหลายๆ อย่างมาหลอกขาย แต่ก็ไปไม่รอด ทำความเก่าหรือสนิมที่มีความเก่าแก่ในตัวอย่างของแท้ไม่ได้ ก็เลิกๆ ทำกันไปแต่ในปัจจุบันก็ยังมีพวกที่นำพระเนื้อชินเขียวปลอมรุ่นเก่ามาหลอกขายกันอยู่เหมือนกัน แต่เนื้อและสนิมก็ยังไม่รอดอยู่ดี ถ้าศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องสนิมและความเก่าได้ก็จะพอรู้ได้ครับ

สรุปว่าพระเนื้อชินเขียวของแท้เขามีจริงครับ แต่ก็หายากและราคาสูงด้วยครับ สนิมของเนื้อชินเขียวนั้นจะเรียกกันว่าสนิมไข่แมงดา เนื่องจากจะขึ้นเป็นเม็ดกลมๆ คล้ายไข่แมงดา มีสีแบบสนิมไขของเนื้อชินตะกั่วมีสีขาวอมเหลืองขึ้นสลับซับซ้อน ในส่วนที่ลึกลงไปจะมีพื้นเป็นสีดำสนิท ตัวเนื้อโลหะเองก็จะเป็นสีเทาอมเขียว พอมองดูภาพรวมผิวสนิมที่ขึ้นสลับซับซ้อนแล้วจะมีความใสเป็นมันวาว มองดูคล้ายๆ กับเนื้อของสบู่กรดในสมัยก่อน ภาพรวมก็จะเป็นสีออกอมเขียวๆ จึงเรียกกันว่าชินเขียว

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระยอดอัฏฐารส เนื้อชินเขียว ซึ่งเป็นพระพิมพ์สองหน้า จากหนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทยมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน