‘เหรียญกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์’เก่าแก่ทรงคุณค่ายิ่ง

สร้างอุโบสถวัดบ้านเมย‘พระอุปคุต-หลวงปู่คำจันทร์’

คอลัมน์ รอบด้านวงการพระ

‘เหรียญกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์’เก่าแก่ทรงคุณค่ายิ่ง สร้างอุโบสถวัดบ้านเมย‘พระอุปคุต-หลวงปู่คำจันทร์’ : รอบด้านวงการพระ“หาหลักความเป็นจริงโดยธรรมชาติ โดยสลัดความยึดถือในตำรับตำราออกไปเสีย เอาแต่ความจริงที่มันเกิดขึ้นของผู้ภาวนานั้นมาเทียบเคียงกัน มาวัดกันดูว่ามันสามารถจะเป็นวิปัสสนาได้หรือไม่ เพื่อเราจะได้หายข้อสงสัย หายแคลงใจ หายขัดแย้งซึ่งกันและกัน”
สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา…•

‘เหรียญกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์’

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวง ชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพ.ศ.2465 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เหรียญรุ่นแรก จัดสร้างในปีพ.ศ.2466 ที่ระลึกในปีที่พระชนมายุ 65 พรรษา เสมอพระชนมายุของพระชนก สร้างประมาณ 1,000 เหรียญ …•

เหรียญสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.ศ.2466

 

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์ม ขนาดกว้าง 2.6 เซนติเมตร ขนาดยาว 3.3 เซนติเมตร ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางมีพระนามย่อ ช.ส. เป็นตัวอักษรประดิษฐ์ไขว้กัน โดยมีลายกนกประดับทั้ง 2 ข้าง บนช.ส.มีอุณาโลมเปล่งรัศมีโดยรอบ ด้านหลังเหรียญเป็นคาถาอักษรขอม 4 บท และเลข ๒๔๐๒-๒๔๖๖ เป็นปีประสูติ และปีที่ฉลองพระชนมายุ เป็นอีกหนึ่งเหรียญวัตถุมงคลที่หายาก …•

พระอุปคุต-หลวงปู่คำจันทร

ปีพ.ศ.2562 กลุ่มทีมงานเมตตาสายบุญจัดกิจกรรมตัดชุดนักเรียน มอบอุปกรณ์การเรียน การกีฬา ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 3 โรงเรียนใน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และร่วมสมทบทุนสร้างอุโบสถวัดบ้านเมย ต.ดงลิง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ จึงขออนุญาต หลวงปู่คำจันทร์ ปัญญาโภ วัดบ้านเมย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ จัดสร้างวัตถุมงคล “พระอุปคุต รุ่นเจ้าสัว” นำรายได้ไปใช้ดำเนินการในกิจกรรมดังกล่าว…•

สำหรับการจัดสร้างพระอุปคุต รุ่นเจ้าสัว สอดตะกรุดไว้ที่ใต้ฐาน ประกอบด้วย เนื้อทองคำ สอดตะกรุดทองคำ, เนื้อเงิน สอดตะกรุดทองคำ, เนื้อขันลงหิน สอดตะกรุดเงิน, เนื้อสัตตะเปียกทอง สอดตะกรุดเงิน, เนื้อชนวนรมซาติน, เนื้อสำริดโบราณ และเนื้อทองแดงเถื่อน พระอุปคุตทุกองค์ทุกเนื้อจะถูกซีลทึบด้วยซองพลาสติก ไม่สามารถมองเห็นได้ และนำมาคละผสมกัน เพื่อที่จะให้ผู้ที่จองได้ลุ้นว่าจะได้องค์พระอุปคุตเนื้อใด สอบถามโทร. 08-1613-4721…•

เหรียญหลวงพ่อบรรณ

“หลวงพ่อบรรณ พุทธสโร” หรือ “พระครูศีลพงษ์คณารักษ์” เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกวัดอุปนันทาราม หรือวัดด่าน อ.เมือง จ.ระนอง เจ้าคณะจังหวัดระนองรูปแรก เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีชีวิตร่วมสมัยเดียวกับหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จ.ภูเก็ต วัตถุมงคลที่สร้างเป็นที่นิยมและแสวงหามาตั้งแต่อดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน…•

ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือ เหรียญหลวงพ่อบรรณรุ่นแรก สร้างเมื่อปีพ.ศ.2497 จัดสร้างจำนวนไม่กี่ร้อยเหรียญ ราคาสูงถึง 5 หลัก ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อบรรณครึ่งองค์ ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “หลวงพ่อบรรณ วัดด่านระนอง” มีขอบข้าง ด้านหลังเหรียญไม่มีขอบ เขียนยันต์ ระบุปีพ.ศ.ตัวเลขไทย “๒๔๙๗” ปัจจุบันเป็นที่เสาะหา…•

 

ในปีพ.ศ.2494 “หลวงปู่กลีบ พุทธรักขิโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ พระเกจิชื่อดัง สร้างวัตถุมงคลไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน โดยเข้าปรึกษา พระมงคลราชมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม หรือท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์ ยติธโร) เรื่องหาปัจจัยสร้างมณฑปที่ยังค้างอยู่ ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) จึงแนะนำให้สร้างพระกริ่ง โดยใช้พิมพ์ของพระกริ่งหนองแสเป็นต้นแบบ…•

พระกริ่งหนองแส หลวงปู่กลีบ

กำหนดวันที่ 17 ก.ค.2494 ประกอบพิธีหล่อโดยใช้ชนวนพระกริ่งของวัดสุทัศน์ที่ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) มอบให้ และทองชนวนของหลวงปู่กลีบ เทหล่อหลังจากที่ประกอบพิธีที่วัดสุทัศน์เสร็จแล้ว นำกลับมาปลุกเสกเดี่ยวอีกหนึ่งพรรษา จึงนำออกมาแจกในปีพ.ศ.2495 พระกริ่งรุ่นดังกล่าวหล่อตันแล้วจึงนำมาเจาะรูบรรจุเม็ดกริ่ง และอุดด้วยทองชนวน วรรณะออกสีเหลืองอมเขียว ผิวสีน้ำตาลอ่อน ปัจจุบันหายากมาก…•

ลักษณะเหรียญเป็นพิมพ์ทรงเหรียญพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปพ่อท่านเอ็นนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ เขียนคำว่า “พระครูสุคนธวิศิษฏ์ วัดสถิตคีรีรมย์” ด้านหลังเหรียญเป็นอักขระยันต์ เป็นที่นิยมอย่างมาก…•

เหรียญพ่อท่านเอ็นรุ่นแรก

“พระครูสุคนธวิศิษฏ์” (เพริ้ม โกสิโย) หรือ “พ่อท่านเอ็น” อดีตเจ้าอาวาสวัดสถิตคีรีรมย์ (วัดเขาราหู) อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี พระเครื่องและวัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกไว้ โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก” สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2542 เป็นที่ระลึกได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูสุคนธวิศิษฏ์” และฉลองอายุครบ 69 ปี ในปีพ.ศ.2543 แต่ไม่สามารถทำได้ทันตามที่กำหนด จึงได้เลื่อนมาแจกตอนอายุ 70 ปี ในปีพ.ศ.2544 มีเนื้อเงิน, เงินลงยา, นวโลหะ, อัลปาก้า, ทองฝาบาตร และทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันทุกเนื้อไม่เกิน 3,000 เหรียญ ซึ่งต่อมาได้สร้างเพิ่มอีก 5,000 เหรียญ เป็นเนื้อทองแดง เนื่องจากเป็นเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ทำให้เป็นที่ต้องการของบรรดาศิษย์และนักนิยมสะสมพระเครื่องอย่างมาก…•

ช่วงที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีมาตรการให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงงดโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2563 ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม …•

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน