หลวงปู่หร่ำ เกสโร

วัดกร่าง ปทุมธานี

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่หร่ำ เกสโร วัดกร่าง ปทุมธานี – วันเสาร์ที่ 18 เม.ย. 2563 น้อมรำลึกครบรอบ 59 ปี มรณกาล หลวงปู่หร่ำ เกสโร วัดกร่าง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งปทุมธานี

สำหรับวัดกร่าง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ ต.บางกระบือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี สร้างขึ้นประมาณปีพ.ศ.2300 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีเจ้าอาวาสรูปแรกชื่อ พระอธิการวัน และหลวงปู่หร่ำก็เป็นหนึ่งในเจ้าอาวาสวัดกร่างที่มีชื่อเสียงมาก ได้รับความเลื่อมใสศรัทธามาอย่างยาวนาน

มีนามเดิมว่า หร่ำ เกิดที่บ้านบางกระบือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2415

ในช่วงวัยเยาว์ ศึกษาภาษาไทย และภาษาบาลีกับหลวงพ่อนอม ที่วัดกร่าง หลังจากนั้น อายุ 17 ปี บรรพชาที่วัดกร่าง

อายุครบ 20 ปี อุปสมบทที่วัดกร่าง มีหลวงพ่อหิน วัดสวนมะม่วง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า เกสโร

อยู่จำพรรษาที่วัดกร่าง ศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานจากหลวงพ่อนอม ซึ่งเป็นพระผู้เชี่ยวชาญในด้านกัมมัฏฐานและวิทยาคม

พระอาจารย์นอมเป็นสหายธรรมกับหลวงพ่อกลั่น ธัมมโชโต วัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา

เวลาหลวงพ่อกลั่นเข้ามากรุงเทพฯ จะต้องแวะวัดกร่าง เพื่อสนทนาธรรมกับหลวงพ่อนอมเสมอ

นอกจากนี้ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ก็ยังเคยมาศึกษาวิชากับหลวงพ่อนอมที่วัดกร่างด้วย

หลวงปู่หร่ำ เกสโร

บั้นปลายชีวิตหลวงพ่อนอมได้ไว้ใจให้หลวงปู่หร่ำลงตะกรุดโทนและถวายให้ปลุกเสกกำกับ พร้อมกับบอกญาติโยมว่า “ถ้าต้องการได้ตะกรุดโทนล่ะก็ ไม่ต้องมาหาฉัน เพราะฉันหูตาไม่ดีแล้ว ให้ท่านหร่ำเขาลงและปลุกเสกให้ ส่วนถ้าจะให้ฉันปลุกเสกก็ค่อยเอามาให้ตอนหลังก็ได้ ท่านหร่ำเขาก็เสกได้เหมือนฉันนั่นแหละ”

ครั้นเมื่อหลวงพ่อนอมมรณภาพ หลวงพ่อกันต์ที่เป็นคู่สวดของหลวงปู่หร่ำก็ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน แต่ไม่นานก็ลาสิกขาไป ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอาราธนาหลวงปู่หร่ำดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกร่างสืบแทน

หลวงปู่หร่ำเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพเลื่อมใสศรัทธา ใครเป็นอะไร เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปให้ท่านช่วยรักษา ท่านก็จะกรุณาเมตตารักษาให้จนหายดี โดยใช้สมุนไพรต่างๆ

ด้านวัตถุมงคล สร้างไว้ให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เช่น ตะกรุดโทนที่เด่นในเรื่องมหาอุด, ผ้ายันต์ รูปถ่ายขาว-ดำ, พระเนื้อดินเผาพิมพ์พระขุนแผนใบพุทรา, พระพิมพ์เม็ดบัว, พระพิมพ์เม็ดน้อยหน่า ฯลฯ

ที่โดดเด่นเป็นที่เลื่องลือคือ พระขุนแผนใบพุทรา จัดสร้างขึ้นด้วยเนื้อดินผสมผงและว่านมหาเสน่ห์ มีทั้งส่วนผสมของพระกรุต่างๆ เนื้อพระสีขาวขุ่นแบบพระบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี

พระขุนแผนใบพุทรานี้สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2460 และได้ปลุกเสกหลายพรรษาจนมั่นใจในพุทธคุณ แล้วได้นำมาบรรจุกรุในพระเจดีย์ด้านหน้าพระวิหาร กลายเป็นวัตถุมงคลที่ต่างเสาะแสวงหา

ในยุคที่ยังมีชีวิต ในครั้งนั้นมี 3 โจรพี่น้องออกหากินด้วยการปล้นชาวบ้าน แต่ไม่มีใครจับได้ ยิงก็ไม่ถูก ร่ำลือกันว่าเป็นเพราะสามโจรร้ายมีเหรียญหลวงปู่หร่ำรุ่นหนึ่ง มีอยู่เพียงเหรียญเดียว สามโจรนับถือหลวงปู่มากจึงตกลงกันตัดแบ่งเหรียญเพื่อใช้คุ้มครองตนเป็นสามส่วน ส่วนบนพี่คนโตได้ไปบูชา ส่วนกลางคนกลางได้ไป ส่วนล่างน้องคนเล็กได้ไป

วันหนึ่งพวกโจรคิดถึงหลวงปู่หร่ำจึงนั่งเรือมาหาตอนค่ำเพราะกลัวคนเห็น แต่เมื่อพวกโจรเทียบเรือขึ้นมาก็เจอหลวงปู่นั่งอยู่เหมือนกับจะรอคอย พวกโจรทั้งสามเจอหลวงปู่ก็ก้มลงกราบยังไม่ทันพูดอะไร หลวงปู่พูดขึ้นมาว่า “พวกมึงนับถือข้าอย่างไร เอาข้าไปตัดเป็นท่อนๆ” สามโจรพี่น้องสะดุ้ง เพราะเรื่องตัดเหรียญแบ่งกันใช้ไม่มีใครรู้เรื่องนี้

หลวงปู่หร่ำจึงเทศน์อบรมสั่งสอนเสือทั้งสามจนสำนึกให้สาบานต่อหน้าว่าจะเลิกอาชีพโจร ตั้งใจทำมาหากิน ซึ่งพวกโจรสามพี่น้องก็ทำตาม จึงให้คืนเหรียญที่ถูกตัดเป็นสามส่วน และให้เหรียญใหม่แทนไปคนละเหรียญ

จนถึงวัย 89 ปี พรรษา 68 มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2504

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน