พระร่วงนั่งกรุคอกควาย

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระกรุเนื้อชินชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า “พระร่วงนั่งกรุคอกควาย” ผมได้ยินชื่อในครั้งแรกๆ ก็เกิดความสงสัยว่าทำไมถึงมีคำว่าคอกควายตามหลังชื่อพระ น่าจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องเป็นแน่ ก็ลองหาชมองค์พระและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระร่วงนั่งชนิดนี้

พระร่วงนั่งกรุคอกควาย เป็นพระที่พบในจังหวัดชัยภูมิ มีศิลปะแบบขอม เนื้อชินสนิมแดงเป็นส่วนใหญ่ มีที่เป็นเนื้อชินเงินบ้างแต่พบน้อย เมื่อศึกษาถึงเมืองชัยภูมิดูก็พบว่าเป็นแหล่งชุมชนมาเก่าแก่ และเป็นเมืองที่ขอมมีอิทธิพลมาก่อน

โดยมีโบราณสถานประเภทปรางค์กู่อยู่หลายแห่ง เช่นปรางค์กู่ในตัวเมืองชัยภูมิ ปรางค์กู่ที่อำเภอบ้านแท่น ที่อยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองไปทางเหนือ เป็นต้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเก่า เกิดขึ้นมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 พร้อมๆ กับเมืองพิมาย และคงมีการติดต่อค้าขายกันมาและเชื่อมต่อกับเมืองในแถบนี้ เช่น เมืองเสมา เมืองโคราฆะปุระ

พระร่วงนั่งกรุคอกควาย

ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงจนมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองนี้ก็เป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมา และได้มีชาวกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

ได้มีบุรุษหนึ่งนามว่าท้าวแล ได้พาครอบครัวและสมัครพรรคพวกและครอบครัวอพยพ มาจากเวียงจันทน์ มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองนี้ และได้มีผู้คนอพยพมาอยู่อีกมากมาย จนเป็นชุมชนใหญ่ ดังปรากฏชื่อบ้านแสนพัน (ต่อมากลายเป็นบ้านสัมพันธ์ในปัจจุบัน)

โบราณสถานและโบราณวัตถุเก่าแก่ของเมืองชัยภูมิ ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลศิลปะขอม ได้แก่ ปรางค์กู่ เทวรูป พระพุทธรูป เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ การค้นพบก็จะพบบริเวณปราสาทเก่า ภูพระ ภูเขียว คอนสวรรค์ เป็นต้น ส่วนที่เป็นพระเครื่องก็มีพบบ้างแต่ไม่มากนัก และที่รู้จักกันดีก็คือพระร่วงนั่งกรุคอกควาย

พระร่วงนั่งกรุคอกควายพบที่บ้านโศกพริก เมื่อปีพ.ศ. 2505 มีชาวบ้านผู้หนึ่งได้ขุดหลุมเพื่อปักเสาทำคอกควาย เผอิญได้พบพระเครื่องเป็นพระเนื้อชิน พุทธลักษณะเป็นพระประทับนั่งปางสมาธิ ทรงเทริด มีกรองพระศอ และกำไลแขน ตัดขอบชิดองค์พระ ศิลปะแบบขอม

จึงเรียกชื่อกันว่าพระร่วงนั่ง ส่วนคำว่าคอกควายก็มาจากสถานที่พบพระ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า “พระร่วงนั่งกรุคอกควาย” การพบพระครั้งแรกก็พบพระจำนวนไม่มากนัก แต่ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2541 ก็มีผู้พบพระลักษณะเดียวกันอีกครั้ง ในบริเวณที่เดิมที่เคยพบพระ ได้พระจำนวนประมาณ 40 องค์

สันนิษฐานว่าคงจะตกค้างอยู่หลังจากนำพระขึ้นไปในครั้งแรก พระที่พบทั้ง 2 ครั้งเป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดงเป็นส่วนใหญ่ มีพระเนื้อชินเงินบ้างเล็กน้อย พระส่วนมากจะมีคราบไขขาวจับอยู่ตามผิวพระ เมื่อล้างไขขาวออกบ้างก็จะพบสนิมแดงสีเข้ม ส่วนพระเนื้อชินเงินก็จะมีผิวสีดำ

ปัจจุบันพระร่วงนั่งกรุคอกควายไม่ค่อยได้พบเห็นกันนัก ในวันนี้ผมได้นำรูปจากหนังสือ อมตพระกรุอันล้ำค่าของไทยมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน