คอลัมน์ อริยะโลกที่6

เชิด ขันตี ณ พล

“พระครูพิทักษ์สุนทรการ” หรือ “หลวงพ่อจั่น จันทสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านขามป้อม ต.ขามป้อม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เป็นพระอีกรูปหนึ่งที่มีวัตรปฏิบัติดี มีเมตตาธรรมสูง อยู่ในศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวมหาสารคามโดยตลอด

เกิดในสกุล มลธรา เมื่อปี 2449 ณ บ้านขามป้อม ต.ขามป้อม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

อายุครบบวช พ.ศ.2469 เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดบ้านหนองไฮ ต.หนองไฮ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม มี พระครูสุนทรสาธุกิจ (หลวงปู่ซุน) วัดบ้านเสือโก้ก พระเกจิชื่อดังของภาคอีสาน เป็นพระอุปัชฌาย์

ภายหลังอุปสมบทได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านขามป้อม เรียนพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดโสมนัสประดิษฐ์ อำเภอวาปีปทุม สมัยนั้นเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก

ท่านมุมานะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่เพียงไม่กี่ปีก็แตกฉาน สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้ไปฝากตัวศึกษาวิทยาคมกับหลวงปู่ซุน พระอุปัชฌาย์ด้วย

หลวงปู่ซุน เมตตาถ่ายทอดวิทยาคม รวมทั้งสอนอ่านเขียนอักษร ลาว ขอม และอักษรไทยน้อย ทำให้หลวงพ่อจั่น มีความรู้ในการอ่านอักขระโบราณ

เป็นพระที่เคร่งในพระธรรมวินัย และชมชอบความสงัดวิเวก หลังออกพรรษา ชมชอบออกธุดงควัตรไปตามป่าเขาแถบภาคอีสานเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามรอยพระตถาคต ยิ่งทำให้มีความรู้แตกฉานทั้งพระธรรมวินัยและวิปัสสนากัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้น

ด้วยวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเสมอต้นเสมอปลาย หลวงพ่อจั่นเริ่มเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมในพื้นที่ใกล้เคียงเดินทางมากราบนมัสการรับฟังธรรมกับหลวงพ่ออย่างล้นหลาม พร่ำสอนญาติโยมมาโดยตลอดท่านจะเน้นให้รักษาศีล 5 ท่านบอกว่า ปุถุชนคนธรรมดายังมี กิเลสอยู่เพียงขอให้ยึดศีล 5 เป็นหลักในการดำเนินชีวิตก็พอรับรองว่าชีวิตจะพานพบแต่ความสุขความเจริญแน่นอน

นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักพัฒนาอันทรงคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย ปัจจัยที่ได้มาจากศรัทธาญาติโยมจึงถูกนำมาใช้ในการพัฒนาวัดไม่ว่าจะเป็นศาสนสถาน ศาสนวัตถุ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ อาทิ ศาลาการเปรียญ กำแพงแก้ว กุฏิ เป็นต้น พร้อมกับปรับปรุงภายในบริเวณวัดให้มีแต่ความร่มรื่นสวยงามปลูกต้นไม้ไว้เต็มวัด ทำให้ทั่วบริเวณวัดมีแต่ความสงบวิเวกเหมาะสมกับการเจริญภาวนายิ่งนัก

นำปัจจัยไปพัฒนาด้านการศึกษาปริยัติธรรมเนื่องจากผู้บวชเรียนส่วนใหญ่ล้วนมาจากครอบครัวที่ยากจน ท่านจึงตั้งสำนักเรียนขึ้นที่วัดบ้านขามป้อม โดยท่านรับหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรมมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ท่านนำปัจจัยมาช่วยเหลือสังคมชุมชนมาโดยตลอด

ด้วยวัตรปฏิบัติอันดีงาม ส่งผลให้ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านขามป้อม และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลขามป้อมเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี โท และเอก ในราชทินนามที่ “พระครูพิทักษ์สุนทรการ”

ตรากตรำงานหนัก ทั้งงานปกครองสงฆ์ งานพัฒนาชุมชน และงานนิมนต์ แต่ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ท่านไม่ยอมเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เนื่องจากท่านตระหนักแล้วว่าความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรม ไม่มีใครหนีพ้นได้

แต่เมื่ออาการอาพาธด้วยโรคมะเร็งปอดหนักขึ้น คณะศิษยานุศิษย์ไม่สามารถทนดูได้ จึงนิมนต์ท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัด ระยะหนึ่งแต่หลวงพ่อจั่น ได้ขอกลับวัด

สุดท้าย หลวงพ่อจั่น มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2511 สิริอายุ 62 ปี พรรษา 42

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน