พ่อท่านแสง วัดคลองน้ำเจ็ด

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

โดย…แทน ท่าพระจันทร์

พ่อท่านแสง วัดคลองน้ำเจ็ดสวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงพระเกจิอาจารย์สายใต้กันดีกว่านะครับ พระเกจิอาจารย์ทางใต้นั้นมีอยู่มากมาย หลายจังหวัด แต่วันนี้ผมจะมาคุยถึงพระเกจิอาจารย์ของจังหวัดตรัง คือพ่อท่านแสง วัดคลองน้ำเจ็ด ซึ่งท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีเมตตาธรรมสูง เป็นที่เคารพรักของชาวบ้านจังหวัดตรังครับ

พระครูโอภาสวุฒิคุณ (หลวงพ่อแสง) วัดคลองน้ำเจ็ด ท่านเกิดที่บ้านพรุชี ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เมื่อปี พ.ศ.2429 โยมบิดาชื่อรอด โยมมารดาชื่อนุ่ม ในวัยเด็กบิดาได้นำท่านไปฝากเรียนหนังสือกับพระครูวินัยธร วัดแจ้ง ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ประมาณ 16 ปี ท่านก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดคลองน้ำเจ็ด อยู่ได้ 2 พรรษา ท่านก็ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ พอท่านอายุได้ 21 ปี ในปี พ.ศ.2450 ท่านจึงได้อุปสมบทที่วัดคลองน้ำเจ็ด โดยมีพระครูบริสุทธิศีลาจารย์ (ลบ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิมลศิละขัน (หนู) วัดแจ้ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อช้วน วัดคลองน้ำเจ็ด เป็นพระ อนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ยโสธโร”

พ่อท่านแสง วัดคลองน้ำเจ็ด

เมื่ออุปสมบทแล้วท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแจ้ง เล่าเรียนพระธรรมวินัย และวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อหนู 4 พรรษา ซึ่งหลวงพ่อหนูเก่งกล้าทางด้านวิทยาคม ต่อมาจึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อลบ อุปัชฌาย์ของท่าน และได้เรียนวิทยาคมจากหลวง พ่อลบ ต่อมาได้เรียนกับหลวงพ่อวัน มานะโส และกับหลวงพ่อทุด วัดคลองน้ำเจ็ด

เมื่อหลวงพ่อทุด เจ้าอาวาสวัดคลองน้ำเจ็ดมรณภาพ หลวงพ่อแสงก็ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดคลองน้ำเจ็ดสืบแทน สมณศักดิ์ที่ท่านได้รับ คือ ปี พ.ศ.2467 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดคลองน้ำเจ็ด ปี พ.ศ.2469 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบล ปี พ.ศ.2498 ได้แต่งตั้งเป็นพระครูโอภาสวุฒิคุณ หลวงพ่อแสงเป็นพระสงฆ์ที่มีเมตตาธรรมสูง ผู้ใดมีความทุกข์โศกต่างๆ ท่านก็ช่วยบำบัดให้ทุกรายไป ท่านสั่งสอนธรรมให้แก่บรรดาศิษย์เสมอ ปกครองภิกษุ สามเณรด้วยความเสมอภาค เป็นที่เคารพของภิกษุ สามเณร เป็นที่พึ่งของทุกชนชั้น ดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของชาวบ้าน หลวงพ่อแสงมรณภาพ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2527 สิริอายุได้ 98 ปี พรรษาที่ 77

ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ชาวบ้านและลูกศิษย์ที่เคารพนับถือมักจะมาขอ ปิดทองที่ตัวท่านอยู่เสมอ ท่านก็ไม่ว่าอะไร และจะมีผู้มาขอเอาทองที่ปิดที่ตัวท่านนำไปเก็บไว้เพื่อสักการบูชา ท่านก็อนุญาตให้ทุกครั้ง ต่อมาเมื่อท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูโอภาสวุฒิคุณ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2498 ลูกศิษย์จึงได้ขออนุญาตท่านสร้างเหรียญขึ้น จำนวนประมาณ 800 เหรียญ เพื่อแจกจ่ายให้แก่บรรดาศิษย์ที่มาแสดงมุทิตาจิตต่อท่าน

เหรียญรุ่นนี้ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกของท่าน และปัจจุบันก็หายาก ใครมีต่างก็หวงแหนกันมาก ยิ่งคนตรังด้วยแล้วหวงมากครับ เหรียญรูปคล้ายๆ กันมีสร้างต่อมาอีกหนึ่งครั้ง แต่แกะแม่พิมพ์ใหม่ ต่างกันที่ด้านหลังเหรียญ จะมีคำว่า “ที่ระลึกในงาน…” ที่แตกต่างจากรุ่นแรกที่จะเขียนว่า “ไว้เป็นที่ระลึกในคราวฉลองสมณศักดิ์ ๒๔๙๘” เหรียญรุ่นแรกจึงนิยมเรียกกันว่า เหรียญ “ในคราว” ซึ่งบ่งบอกความหมายถึงเป็นเหรียญรุ่นแรกครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปเหรียญรุ่นแรกมาให้ชมกัน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน