โคราชฟื้นวัฒนธรรมเอื้ออาทร

ปลูกพืชผักสวนครัวจากวัดสู่ชุมชน

โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ

ปลูกพืชผักสวนครัวจากวัดสู่ชุมชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศ ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก

ประเทศไทย รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และปิดพื้นที่เสี่ยงไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด และร้านค้าต่างๆ จากมาตรการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชนเป็นวงกว้าง เนื่องจากไม่สามารถหาซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารได้

พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา จึงร่วมกับ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ส่งเสริมให้มีการทำแปลงผักชุมชนขึ้นภายในวัด เพื่อให้ประชาชนร่วมกันสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน ต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 อย่างเข้มแข็ง

พระเทพสีมาภรณ์เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 พระสงฆ์เห็นประชาชนในชุมชนได้รับความเดือดร้อน ก็ไม่นิ่งนอนใจ พร้อมที่จะใช้สถานที่บริเวณวัดทำเป็นแปลง ผักสวนครัว เพื่อให้ประชาชนปลูกผักไว้ เป็นวัตถุดิบสำหรับนำไปประกอบอาหาร สำหรับโครงการดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดี ดังนั้น จึงให้คณะสงฆ์ทั้ง 32 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่และแหล่งน้ำ ร่วมมือกันกับชาวบ้านเพื่อเพาะปลูกผัก ซึ่งเป็นอีกทางในการช่วยชาวบ้านและทางราชการ ในการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นวางแผนว่าอย่างน้อยต้องมี 1 วัด 1 ตำบล ที่สามารถดำเนินการโครงการเช่นนี้ได้ หลังจากนั้นจะขยายโครงการไปยังวัดต่างๆ ให้ครอบคลุมในทุกชุมชนต่อไป

ด้านนายวิเชียรกล่าวว่า ควรนำวิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสในการฟื้นฟูวัฒนธรรมการแบ่งปันระหว่างวัดกับชุมชนให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ด้วยพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีวัดอยู่กว่า 2,000 วัด กระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วทุกแห่ง และหลายแห่งก็มีสระน้ำ มีแหล่งน้ำที่เพียงพอ ถ้าจะทำแปลงผักชุมชนภายในวัดก็คงจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี

นายวิเชียร จันทรโณทัย

“ผมปรึกษาหารือกับพระเทพสีมาภรณ์ ซึ่งท่านก็เห็นด้วย และให้เริ่มดำเนินการที่วัดสว่างอารมณ์ ต.โคกสูง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นแห่งแรก ภายใต้ชื่อโครงการแบ่งปัน ผักสวนครัว สู้วิกฤตโควิด-19 ‘วัดสู่ชุมชน ทุกคนกินได้’ โดยมีสำนักงานพัฒนาการชุมชน และสำนักงานเกษตรจังหวัด เป็นผู้สนับสนุนเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชผัก ที่จะนำมาปลูก และให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลพืชผักต่างๆ ซึ่งจะเน้นไปที่ผักสวนครัวระยะสั้นก่อน อาทิ กะเพรา พริก มะเขือ โหระพา มะนาว ข่า ตะไคร้ ผักบุ้ง คะน้า และมะละกอ เป็นต้น”

หลังจากนั้นจึงขยายไปปลูกพืชที่ต้องใช้เวลาระยะยาว เช่น มะม่วง ต้นแค และมะพร้าว เป็นต้น ซึ่งอาจจะให้ชาวชุมชนจัดเวรกันมาช่วยกันรดน้ำผัก ใส่ปุ๋ย โดยมีพระสงฆ์ภายในวัดเป็นผู้ดูแลรักษาสวนผักเหล่านี้ไว้ หลังจากนั้นก็เก็บผลผลิตไปแจกจ่ายให้กับประชาชน หรือใครขาดเหลืออะไรก็มาเก็บได้ เป็นการเอื้ออาทรกัน และเป็นการสร้างวัฒนธรรมประเพณีการแบ่งปันกันซึ่งเคยมีมาในอดีต ซึ่งจะสามารถช่วยให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้” ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าว

นายวิเชียรกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันสมาชิกหลายครอบครัวตกงาน ถูกเลิกจ้างงาน แล้ว กลับภูมิลำเนามาอยู่กับครอบครัว จึงไม่มีเงินรายได้อะไร นอกจากจะรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ถ้าได้มีผัก ผลไม้ จากสวนผักชุมชนนี้ ก็จะสามารถเก็บมาประกอบอาหารรับประทานในครอบครัวได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเลย ซึ่งโครงการนี้คาดหวังว่าจะทำให้เกิดขึ้นทุกชุมชนในโคราช เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติแล้ว ก็จะทำให้วัฒนธรรมแบ่งปันผักสวนครัว วัดสู่ชุมชน ทุกคนกินได้ กลับมาฟื้นฟูได้ในที่สุด นอกจากนี้ ตนยังได้นำร่องปฏิบัติการ Quick Win 90 วัน ปลูกผักสวนครัว ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นแบบอย่างสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างกระแสและกระตุ้นให้ขยายผลปฏิบัติการนี้ไปทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา

ปลูกพืชผักสวนครัวจากวัดสู่ชุมชน

โดยปลูกผักสวนครัว เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง หอม มะละกอ พริก และมะเขือ ในบ้านพักของตนเอง เป็นการลดรายจ่ายของประชาชนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัว เน้นการพึ่งตนเอง เพื่อให้รอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน