หลวงปู่ภู จันทเกสโร

วัดอินทรวิหาร กทม.

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่ภู จันทเกสโร – วันพุธที่ 6 พ.ค.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 87 ปี มรณกาล พระครูธรรมานุกูล หรือ “หลวงปู่ภู จันทเกสโร” วัดอินทรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ พระคณาจารย์รูปหนึ่ง วัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงของท่าน คือ ไม้เท้าพ่อครู และ พระพิมพ์สมเด็จต่างๆ ซึ่งมีพุทธคุณเปี่ยมล้นและได้รับความนิยมสูง

มูลเหตุที่สร้างพระเครื่องเป็นเพราะต้องรับภาระดำเนินการก่อสร้างองค์หลวงพ่อโต จึงได้จัดสร้างพระผงสมเด็จฯ ขึ้นมา

ใครที่มีโอกาสแวะผ่านไปแถวบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ คงได้เห็น “พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร” องค์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ หรือ “หลวงพ่อโต” ประดิษฐานเด่นเป็นสง่าอยู่ที่วัดอินทรวิหาร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างขึ้น แต่ดำเนินการไปได้เพียงครึ่งองค์ ท่านก็ได้มรณภาพเสียก่อน

ผู้ที่มาสานต่อการก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ คือ “หลวงปู่ภู จันทเกสโร” เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร พระเกจิอาจารย์เลื่องชื่อในยุคนั้น

ถือเป็นศิษย์เอกผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่ได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชา-วิทยาคมต่างๆ มากมาย

เกิดที่หมู่บ้านวังหิน อ.เมือง จ.ตาก ตรงกับปีขาล พ.ศ.2373 อายุ 9 ขวบ บรรพชาที่วัดท่าคอย ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัย (ภาษาขอม) และหนังสือไทยกับท่านอาจารย์วัดท่าแค

กระทั่งอายุ 21 ปี เข้าอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดท่าคอย มีพระอาจารย์อ้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์คำ วัดท่าแค เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์มา วัดน้ำหัด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า จันทเกสโร

สมัยที่ท่านธุดงค์มากรุงเทพฯ ครั้งแรก ปักกลดอยู่บริเวณที่ตั้งวังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าและเปลี่ยวมาก มีแต่ต้นรังและต้นตาล ขึ้นระเกะระกะไปหมด

จากคำบอกเล่าของศิษย์ใกล้ชิดบอกว่า มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ ช่วยชีวิตรักษาคนป่วยเป็นอหิวาตกโรคไว้ 6 คน ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นโรคร้ายแรงที่สุด

ในปีพ.ศ.2416 เป็นปีที่อหิวาตกโรคระบาดหนัก จนเป็นที่กล่าวขวัญเรียกกันจนติดปากว่า “ปีระกาห่าใหญ่”

ต่อมาย้ายมาจำพรรษาที่วัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ตามลำดับ

สุดท้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดอินทรวิหาร ซึ่งสมัยนั้นยังใช้ชื่อว่า วัดบางขุนพรหมนอก ในปี พ.ศ.2432 และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.2435

ส่วนสมณศักดิ์ที่ได้รับ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้รับตำแหน่งในปีใด เข้าใจว่าได้รับก่อนปี พ.ศ.2463 เพราะตามหลักฐานศิลาจารึกเกี่ยวกับการสร้างพระศรีอริยเมตไตรย มีข้อความตอนหนึ่งว่า…

“ถึงพ.ศ.2463 ท่านพระครู ธรรมานุกูล (ภู) ผู้ชราภาพอายุ 91 ปี พรรษาที่ 70 ได้ยกเป็นกิตติมศักดิ์อยู่ในวัดอินทรวิหาร ท่านจึงมอบฉันทะให้พระครูสังฆบริบาล ปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ”

หลวงปู่ภู เป็นพระเถระที่ยึดการธุดงค์เป็นกิจวัตรมาโดยตลอด พอออกพรรษาจะออกรุกขมูลมิได้ขาด โดยร่วมธุดงค์ไปกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และหลวงปู่ใหญ่ และมักเล่าเรื่องแปลกๆ ที่ได้เผชิญมาให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เสมอ อาทิ การผจญจระเข้ยักษ์, เสือลายพาดกลอนเลียศีรษะ, ผจญงูยักษ์ ฯลฯ

มีความมุมานะอุตสาหะมุ่งมั่นศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จนเกิดความชำนาญเป็นที่เลื่องลือ

ในด้านสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้ปฏิบัติมาโดยตลอดชนิดที่เรียกกันว่า “นั่งจนก้นด้าน”

ช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่เคยปล่อยเวลาให้ว่างเปล่า ได้มุ่งหน้าปฏิบัติร่ำเรียนวิชาอาคม เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บ

การบำเพ็ญปฏิบัติของท่านจะเริ่มขึ้นหลังจากฉันจังหัน คือ เวลา 7 โมงเช้า โดยตลอดชีวิตจะฉันเพียงมื้อเดียว ผลไม้ที่ขาดไม่ได้คือ กล้วยน้ำว้า ท่านบอกว่าเป็นโสมเมืองไทย

ทุกวันท่านจะต้องออกบิณฑบาต ทั้งที่ไม่จำเป็นก็ได้ เพราะเจ้าฟ้าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์พินิจ ได้จัดอาหารมาถวายทุกวัน เมื่อฉันเช้าแล้ว จะครองผ้าลงโบสถ์และลั่นดาลประตู ไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรบกวน จากนั้นจะเจริญพระพุทธมนต์ถึง 14 ผูก วันละ 7 เที่ยว แล้วจึงนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนถึงเที่ยงทุกๆ วัน

ถึงแม้ตอนชราภาพ ก็มิได้ขาดจากการลงทำวัตร เว้นแต่อาการหนักจนลุกไม่ไหว

มรณภาพ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พ.ค.2476 เวลา 01.15 น. สิริอายุ 104 ปี พรรษา 83

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน