หลวงปู่มั่น จัตตสัลโล ประธานสงฆ์วัดเทพกตัญญู : อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่มั่น จัตตสัลโล – วันจันทร์ที่ 11 พ.ค.2563 ถือเป็นวันมงคล “หลวงปู่มั่น จัตตสัลโล” มีอายุครบรอบ 77 ปี เหล่าศิษย์ผู้ใกล้ชิดและญาติโยมผู้เลื่อมใส จะร่วมกันมุทิตาจิตฉลองอายุวัฒนมงคล

เป็นพระเถระที่มีวัตรปฏิบัติดี อุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนา แม้จะอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิต อีกทั้ง ยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิทยาคมเข้มขลัง สืบสายธรรมจากหลวงปู่มี กันตสีโล แห่งวัดป่าสันติธรรม จังหวัดมหาสารคาม, หลวงปู่จันทร์ สุภัทโทวัดโคกยาว จังหวัดมหาสารคามและหลวงปู่ออน วัดทรงศิลา (บ้านปลาขาว) อ.นาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอดีต พระเกจิชื่อดัง

ปัจจุบัน สิริอายุ 77 ปี พรรษา 53 ดำรงตำแหน่งประธานสงฆ์วัดเทพกตัญญู ต.สันป่าตอง อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ถือเป็นพระเถระที่อายุพรรษามากอีกรูป

มีนามเดิมว่า มั่น ทองดีเขียว เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2486 ที่บ้านหัวหนองปลาขาว อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม บิดา-มารดา ชื่อ นายสม-นางด่อง ทองดีเขียว และเป็นบุตรชายคนเดียวของตระกูล

วัยเด็กเป็นคนว่านอนสอนง่าย หลังจบชั้นป.4 จากโรงเรียนในหมู่บ้าน ออกมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา

ย่างเข้าวัยหนุ่ม ชื่นชอบกีฬาขี่ม้าเป็นพิเศษ เนื่องจากที่บ้านเลี้ยงม้าไว้ใช้งาน หลายตัว จึงนำม้าไปแข่งขันตามหมู่บ้านต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่ว ต่อมาท่านได้รับอุบัติเหตุตกม้า นับแต่นั้นจึงเลิกขี่ม้าไปโดยปริยาย

อายุ 24 ปี เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงเข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดหนองเลา อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม โดยมีพระครูสมณกิจโกศล (ทอง) อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของอำเภอนาเชือก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า จัตตสัลโล

หลังอุปสมบท กลับมาจำพรรษาที่วัดทรงศิลา (บ้านปลาขาว) มุมานะศึกษาพระธรรมวินัย กระทั่งสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีและชั้นโท ตามลำดับ ในระหว่างนั้นศึกษาตำราหลากหลายแขนงควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี ภาษาขอม หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจศึกษาด้านวิทยาคม ประมาณปี พ.ศ.2514 เดินทางไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่มี แห่งวัดป่าสันติธรรม (ดงส้มป่อย)

หลวงปู่มี ถ่ายทอดวิชาให้ อาทิ ตำราวิชาไก่แก้วหรือนะโมตาบอด เป็นวิชาเอกที่หลวงปู่มีถ่ายทอดให้ซึ่งพระมั่นมีความวิริยะท่องจำได้อย่างแม่นยำ สมัยก่อนการศึกษาวิทยาคมต้องอาศัยความเพียรเป็นเลิศถึง จะประสบผลสำเร็จ ที่สำคัญต้องท่องให้ได้กับปากจริงๆ พระคาถาบทนั้นๆ ถึงจะขลัง

อีกทั้งยังไปฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิทยาคมกับหลวงปู่จันทร์ สุภัทโท วัดโคกยาว ถ่ายทอดวิชาทำน้ำมนต์รักษาคนป่วย วิชากันบ้านกันเมือง อยู่ยงคงกระพัน ท่านยังไปศึกษาวิชากับหลวงปู่ออน วัดทรงศิลา (บ้านปลาขาว) ซึ่งพระอาจารย์ที่ไปฝากตัวศึกษาวิทยาคม

ต่อมาจำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่วัดทรงศิลา จนถึงปี พ.ศ.2540 แต่ไม่ปรารถนาจะรับตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงตัดสินใจออกไปสร้างวัดแห่งใหม่ โดยร่วมแรงร่วมใจกับญาติโยมสร้าง “วัดเทพกตัญญู” อยู่ติดกับวัดทรงศิลา และดำรงตำแหน่งประธานสงฆ์

เป็นพระปฏิบัติดี ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของสาธุชนชาวอำเภอนาเชือก และพื้นที่ใกล้เคียง ในแต่ละวัน จึงมีญาติโยมจำนวนมากเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรม และประพรมน้ำพระพุทธมนต์อย่างไม่ขาดสาย

ทุกวันนี้ สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง แต่ยังคงปฏิบัติศาสนกิจอย่างสม่ำเสมอ

เชิด ขันตี ณ พล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน