รำลึก100ปี-ชาตกาล

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

หลวงปู่จาม มหาปุญโญ – วันอังคารที่ 19 พ.ค.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 110 ปี ชาตกาล หลวงปู่จาม มหาปุญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย หมู่ 9 ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร พระสงฆ์สุปฏิปันโน นักปฏิบัติที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส เป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

เกิดในสกุลผิวขำ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พ.ค.2453 ที่บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร บิดา-มารดา ชื่อ นายกาและนางมะแง้ ผิวขำ ครอบครัวมีพี่น้องร่วมอุทร 9 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 3

ช่วงวัยเยาว์อายุ 6 ขวบ พ่อแม่พาไปกราบหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า ซึ่งมาจำพรรษาอยู่ใกล้บ้าน ที่ภูผากูด คำชะอี

กระทั่งอายุ 16 ปี พ่อแม่พาไปถวายตัวกับหลวงปู่มั่น ที่ จ.อุบลราชธานี ให้นุ่งขาวห่มขาวเป็นเวลา 9 เดือน

ปีถัดมา เข้าพิธีบรรพชา อยู่กับหลวงปู่มั่น ที่บ้านหนองขอน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีโอกาสรับใช้ครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงพ่อลี ธัมมธโร, หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เป็นต้น

แต่ผ่านไปได้เพียง 2 ปี ก็จำต้องลาสิกขาออกมา เพื่อรักษาโรคเหน็บชา อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุตกบันไดกุฏิ และประกอบความเพียรมากเกินไป เช่น นั่งภาวนาในน้ำ ไม่นอนหลับ และฉันน้อย เป็นต้น ทำให้ต้องหันกลับไปใช้ชีวิตเป็นฆราวาส ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ค้าขาย

เมื่ออายุ 27 ปี บิดาอุปสมบท อยู่ใต้ร่ม กาสาวพัสตร์ 6 ปี ก็มรณภาพ ส่วนมารดาตัดสินใจบวชชีจนถึงแก่กรรม

จึงไปกราบไหว้พระธาตุพนม จ.นครพนม เพื่ออธิษฐานจิตขอถวายตนในพระพุทธศาสนา

อายุ 29 ปี จึงอุปสมบท เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2482 ที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี มีพระเทพกวี (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังอุปสมบทท่านธุดงค์ไปทางภาคเหนือ จำพรรษาสังกัดวัดเจดีย์หลวง ถึง 32 พรรษา อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่

อีกทั้งยังเคยออกธุดงค์หาประสบการณ์ ในเขตภาคอีสาน เคยปฏิบัติธรรมร่วมกับเกจิอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย, หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกองเพล จ.หนองบัวลำภู, หลวงพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ, หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดป่าบ้านข่า จ.นครพนม เป็นต้น

พ.ศ.2521 เดินธุดงค์กลับมาทางภาคอีสาน กลับมายังบ้านเกิด คือ บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม

ชาวบ้านและคณะศิษยานุศิษย์นิมนต์ให้จำพรรษาปักกลดที่วัดป่าวิเวกวัฒนาราม และพัฒนาให้เป็นที่นั่งวิปัสสนากรรมฐานจนถึงปัจจุบัน

ส่วนผลงานที่เป็นรูปธรรมอันทรงคุณค่านั้น หลวงปู่จามได้สร้างไว้เป็นที่ประจักษ์ชัดมากมาย อีกทั้งสร้างพระเจดีย์ทรงจุฬามณีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และสร้างกุฏิเสาเดียว จำนวน 11 หลัง รวมทั้งสร้างศาลาการเปรียญ และหอฉันสำหรับเทศนาในวันสำคัญต่างๆ

หลวงปู่จามริเริ่มสร้างสรรค์ธรรมชาติให้เป็นที่นั่งวิปัสสนา อย่างกลมกลืนร่มรื่น ปราศจากสิ่งรบกวน

ส่วนหลักธรรมคำสั่งสอนของหลวงปู่ มีคนบันทึกเทปไว้เป็นจำนวนมาก

ตลอดระยะเวลากว่า 1 ศตวรรษ (100 ปี) หลวงปู่จามตั้งใจเดินตามรอยพระพุทธเจ้าด้วยความมุ่งมั่น

ยึดพระธรรมคำสอนเป็นหลักใหญ่ บูรณาการคำเทศนาสั่งสอนของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย แล้วถ่ายทอดไปสู่พุทธศาสนิกชน

กุฏิของท่านก็อยู่อย่างสมถะ ไม่เคยขอรับบริจาค ไม่จำหน่ายวัตถุมงคล ดังนั้นภายในวัดป่าวิเวกวัฒนารามจึงไม่มีตู้รับบริจาคใดๆ

ปรารภเสมอว่า “ใครทำ ใครได้” ท่านเน้นให้ทุกคนเร่งสวดมนต์ภาวนาทำจิตให้สะอาด เกรงกลัวต่อบาปกรรม เพื่อให้ได้ถึงพระนิพพานกันทุกคน

เป็นพระที่อารมณ์ดี มีเมตตาสูง แม้สุขภาพไม่ดี แต่ยังออกบิณฑบาตทุกเช้า ทำให้มีศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศหลั่งไหลมาฟังพระธรรมเทศนาอยู่มิได้ขาด

แม้ในวันหนึ่งๆ จะมีญาติโยมเป็นจำนวนมากมากราบไหว้สนทนาธรรม แต่ก็ไม่เคยเหนื่อยหน่ายที่จะปฏิสันถาร มีเทศนาสั่งสอน ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เป็นนิจ

สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ ละสังขาร อย่างสงบ ด้วยโรคปอดติดเชื้อ ขณะนำตัวส่ง ร.พ.มุกดาหาร เช้าวันที่ 19 ม.ค.2556

สิริอายุ 104 ปี พรรษา 75

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน