ชีวประวัติย่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) : คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

ชีวประวัติย่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) – มเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม มีนามเดิมว่า “โต” ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายนพ.ศ.2331 ที่บ้านไก่จ้น อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

นามโยมบิดาไม่ปรากฏชัดเจน โยมมารดาชื่อ เกตุ โยมตาชื่อ ไชย ต่อมาโยมมารดาได้ย้ายมาอยู่ที่ ต.ไชโย จ.อ่างทอง ครั้นพอท่านสอนเดิน มารดาได้ย้ายอีกครั้งมาอยู่ที่บ้าน 9. บางขุนพรหม กทม. ภายหลังท่านจึงได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ ณ ตำบลทั้งสามเป็นอนุสรณ์

การศึกษาอักษรสมัย เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เล่าเรียนในสำนักเจ้าคุณอรัญญิก (แก้ว) แห่งวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม ครั้นต่อมา เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ อายุได้ 12 ปีในปีพ.ศ.2343 ได้บรรพชาเป็นสามเณร

โดยมี เจ้าคุณบวรวิริยะเถระ (อยู่) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม (เดิมคือวัดบางลำพูบน) เป็นพระอุปัชฌาย์ เข้าใจว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านบรรพชาที่วัดอินทรวิหาร จนกระทั่งสามเณรโตย้ายสำนักมาอยู่ที่วัดระฆังฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม กล่าวกันว่าท่านได้เล่าเรียนจากสำนัก สมเด็จพระพุทธ โฆษาจารย์ (นาค) วัดระฆังฯ เป็นพื้น

และได้เรียนต่อกับ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุ อีกด้วย สามเณรโตมักจะได้รับคำชมเชยจากครูบาอาจารย์ว่ามีความทรงจำดีเยี่ยม อีกทั้งมีปฏิภาณเป็นยอด นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนาธุระอีกด้วย

ครั้งเมื่ออายุครบอุปสมบทในปีพ.ศ.2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชธุระให้เป็นนาคหลวงอุปสมบท ณ วัดศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (สุข) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (องค์มหาสังฆปริณายกที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่เคยมีปรากฏว่าสามัญชนได้รับพระกรุณาให้เป็นนาคหลวงและอุปสมบทได้ที่พระอารามหลวงในพระบรมมหาราชวังนี้ หลังจากนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้ศึกษากัมมัฏฐานและมหา พุทธาคมจากสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) ในสมัยที่ท่านยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระญาณสังวร ครองวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ)

สมณศักดิ์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้ เรียนรู้พระปริยัติธรรมก็ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญ และไม่ ยอมรับฐานานุกรม เล่ากันว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 ท่านเกรงว่าจะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ จึงมักหลบไปต่างจังหวัดอยู่เนืองๆ

จนถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ ท่านจึงไม่ขัด กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าคุณธรรมของท่านยิ่งยอดเพียงใด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ เมื่อปีพ.ศ.2395

ชีวประวัติย่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)

ขณะนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯ อายุได้ 65 ปี ต่อมาอีก 2 ปี คือปีพ.ศ.2397 ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี ครั้งต่อมาเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศ มรณภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2407

ในการสร้างพระสมเด็จฯ นั้น ท่านเจ้าคุณธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) ศิษย์ผู้ใกล้ชิดเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เล่าและมีการจดบันทึกโดย นายกนก สัชชุกร ว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯได้ร่วมสร้างในปีพ.ศ. 2409 และได้มีหลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองหลวงในราชสำนักรัชกาลที่ 4 ได้แกะแม่พิมพ์ถวาย

และได้แนะนำให้ใช้น้ำมันตตั้งอิ้วผสมเนื้อปูนเปลือกหอยในการสร้างพระสมเด็จฯ ด้วย แม่พิมพ์ที่แกะถวายมีแม่พิมพ์หมวดพิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ หมวดพิมพ์ฐานแซม และพิมพ์เกศบัวตูม เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็สร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2409 เรื่อยๆ มา

พระสมเด็จฯ ที่เป็นพิมพ์มาตรฐานเหล่านี้ เป็นพระสมเด็จฯ ที่มีผู้นิยมเป็นมาตรฐาน และมีมูลค่ารองรับ จากการจดบันทึกทำให้เรารู้ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระเรื่อยๆ มาวันละเล็กละน้อย หลังจากที่ท่านฉันภัตตาหารเพลเสร็จแล้ว และมีผู้มาช่วยตำผสมเนื้อพระ กดพิมพ์พระไปเรื่อยๆ เมื่อได้พระจำนวนพอสมควร

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะนำพระไปปลุกเสกของท่านเอง แล้วท่านก็แจกพระของท่านไปเรื่อยๆ เช่น ท่านออกไปบิณฑบาต ท่านก็จะนำพระไปแจกด้วยเสมอ แล้วก็มีการสร้างพระต่อกันไปอีก พระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ จึงไม่สามารถระบุจำนวนที่แท้จริงได้เนื่องจากไม่ได้กำหนดว่าจะสร้างจำนวนเท่าใด

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า เมื่อปีพ.ศ.2411 เสมียนตราด้วงได้บูรณะวัดบางขุนพรหม ใน (วัดใหม่อมตรส) และได้เข้ามากราบเรียนขอให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างพระให้เพื่อบรรจุในองค์พระเจดีย์ใหญ่ ที่กำลังจะสร้างขึ้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็อนุญาต

และเริ่มสร้างพระเครื่องของวัดบางขุนพรหมใน (วัดใหม่อมตรส) ดังนั้น พระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ อาจจะหยุดสร้างในปีพ.ศ.2411 ก็อาจจะเป็นได้ ดังที่ได้กล่าวมา พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมได้บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ในปีพ.ศ.2413

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงชีพิตักษัย เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2415 เวลา 24.00 น. ณ หอสวดมนต์ วัดระฆังโฆสิตาราม สิริอายุได้ 85 ปี พรรษาที่ 65

วันนี้ผมก็ได้นำรูปพระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ที่ถูกต้องตามมาตรฐานที่มีมูลค่ารองรับ มาให้ชมทั้งด้านหน้า และด้านหลังครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน