คอลัมน์ อริยะโลกที่6

เชิด ขันตี ณ พล

“พระวิชัยศาสนเมธี” หรือ “หลวงปู่ผาง พรหมสโร” อดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่ง ที่มีวัตรปฏิบัติดี มีความเชี่ยวชาญการนิพนธ์หนังสือคาถาธรรมบท-ไทย รวมทั้งรอบรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีสาน ได้รับยกย่องเป็นพระนักปราชญ์-นักพัฒนา

มีนามเดิมว่า ผาง รินทะฤก เกิดเมื่อ วันที่ 12 มี.ค.2444 ที่คุ้มวัดนาควิชัย ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม

ช่วงชีวิตวัยเด็ก บิดา-มารดานำไปถวายเจ้าอาวาสวัดนาควิชัย ให้ช่วยสั่งสอนวิชาความรู้ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีงาม จึงได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนหนังสือธรรมและเรียนหนังสือไทย จนอ่านออกเขียนได้

เมื่ออายุ 15 ปีเข้าพิธีบรรพชา

กระทั่งเมื่ออายุครบบวชเข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดนาควิชัย โดยมีพระครูวินัย รสฤดี วัดอุทัยทิศ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์กึ้น วัดนาควิชัย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดลัง วัดโพธิ์ศรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “พรหมสโร”

หลังอุปสมบทท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนาควิชัย มุมานะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย พ.ศ.2466 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี

แต่ด้วยความมุ่งมั่นอยากศึกษาพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้ง ท่านจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนพระปริยัติธรรมและบาลี ณ สำนักเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส สอบได้นักธรรมชั้นโท และเอก ตามลำดับ

พ.ศ.2472 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พ.ศ.2478 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

พ.ศ.2484 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ด้านธรรมและบาลี พัฒนาการเรียนการสอนให้กับพระภิกษุ-สามเณร ท่านได้ร่วมงานกับพระราชศีลโสภิต ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะปรับปรุงพัฒนาส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งธรรมและบาลี

หลวงปู่ผางอุทิศตนทุ่มเทแรงกายแรงใจพัฒนาระบบการเรียนการสอนของพระภิกษุสงฆ์จนเจริญรุ่งเรือง ด้วยความที่ท่านเป็นพระมหาหนุ่มไฟแรง จึงได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์จังหวัดมหาสารคาม ออกอบรมศีลธรรมประชาชนทุกหมู่บ้าน สมัยนั้นต้องไปไกลถึงจังหวัดกาฬสินธุ์

ถึงงานจะหนักแต่ท่านก็ปฏิบัติหน้าที่จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการศึกษาประชาบาล เป็นกรรมการร่วมตัดสินอธิกรณ์ เป็นสาธารณูปการจังหวัดมหาสารคาม

พ.ศ.2500 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนาควิชัย พ.ศ.2501 ได้รับ แต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2506 เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองมหาสารคาม พ.ศ.2510 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม รูปที่ 1

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูวิชัยศาสนเมธี จนถึงพ.ศ.2501 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระวิชัยศาสนเมธี

ตลอดชีวิตสมณเพศไม่เคยหยุดนิ่ง ใฝ่เรียนใฝ่รู้ ค้นคว้าตลอดเวลา หลวงปู่ผาง ได้ศึกษาอักขระโบราณจนเกิดความชำนาญจนอ่านเขียนอักษรขอม ลาว ไทยน้อย ได้อย่างแตกฉาน

ท่านเป็นผู้ช่วยพระราชศีลโสภิต เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม ในการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอีสาน วรรณกรรม ท้องถิ่น คัมภีร์โบราณต่างๆ จัดเก็บไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อให้ผู้สนใจมีความสะดวกในการค้นคว้า

หลวงปู่ผางยังเป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษา วัดนาควิชัย ท่านให้ความสำคัญกับการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณร จัดให้เรียนทั้งธรรม-บาลี รวมทั้งจัดหาครูที่ทรงภูมิความรู้มาสอนประจำมิได้ขาด ทำให้สำนักเรียนแห่งนี้มีชื่อเสียงโด่งดังในวงกว้าง

บั้นปลายชีวิต หลวงปู่ผางอาพาธด้วยโรคอัมพาต ถึงขั้นโลหิตฝอยแตกและระบบประสาทไม่ทำงาน ลิ้นแข็ง พูดไม่ค่อยได้ คณะสงฆ์และญาติโยมพยายามรักษาพยาบาลทุกวิถีทาง เพื่อให้ท่านหายเป็นปกติ

แต่สุดท้ายมรณภาพ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2523 สิริอายุ 79 ปี พรรษา 59

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน