พืชผักสวนครัวสู้วิกฤตโควิด ‘บวร’-มหาสารคาม90วัน : คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง

พืชผักสวนครัวสู้วิกฤตโควิด ‘บวร’-มหาสารคาม90วัน – กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เร่งขับเคลื่อนโครงการแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” โดยส่งเสริมให้ทุกครัวเรือน ปลูกพืชผักสวนครัว คนละ 5 ชนิด เพื่อไว้ใช้บริโภคในครัวเรือน

ถึงแม้จะเป็นโครงการที่ทางกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการมาก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่โครงการนี้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยในสถานการณ์โรคระบาด และยังสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร นำไปสู่ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก

โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดทั่วประเทศเริ่มโครงการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563 จะเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 90 วัน

วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครอบครัวและชุมชน มุ่งเน้นการพึ่งตนเอง สร้างความสามัคคีของคนในชุมชน และสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ช่วยคนไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับโครงการดังกล่าวมีการขยายผลปลูกผักสวนครัวจากวัดสู่ชุมชน ตามหลัก “บวร” โดยให้วัดเป็นจุดศูนย์กลางร่วม กับชุมชน ร่วมกันปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานและแบ่งปันให้กับประชาชนผู้พิการ คนชรา และผู้ด้อยโอกาส เชื่อมโยงไปสู่สังคมแห่งการเอื้ออาทร

ในส่วนของภาพรวมการจัดกิจกรรมการขยายผลปลูกผักสวนครัวจากวัดสู่ชุมชน ตามหลัก “บวร” ในพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคาม ตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ดำเนินการไปแล้วตามวัดต่างๆ ใน 13 อำเภอ ทั่วทั้งจังหวัด โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุกอำเภอ และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดมหาสารคาม เป็นหน่วยงานหลัก พร้อมภาคีเครือข่าย ส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานและแบ่งปันให้กับประชาชนและผู้ด้อยโอกาส
โดยวัดทุกแห่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อนุญาตให้ใช้พื้นที่ว่างเปล่าภายในบริเวณวัด ทำประโยชน์ปลูกผักสวนครัว เป็นต้นแบบอันดีงามต่อการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ

นายอำพร กุดแถลง รักษาการผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดมหา สารคาม กล่าวให้ความเห็นว่าการจัดกิจกรรมในพื้นที่มหาสารคามใช้ชื่อว่า แผนกิจกรรมเอามื้อสามัคคีปลูกผักสวนครัว หรือเป็นวันสามัคคีร่วมกันปลูกผักสวนครัว โดยมีวัดรวม 13 แห่ง ใน 13 อำเภอ ที่มีศักยภาพเข้าร่วม อาทิ มีแหล่งน้ำเพียงพอ มีที่ดินว่างเปล่าเหมาะสมต่อการปลูกพืชผัก เป็นต้น อาทิ วัดหัวขัว อ.แกดำ, วัดศรีสว่าง อ.โกสุม พิสัย, วัดโคกสะอาด อ.พยัคฆภูมิพิสัย, วัดบ้านเขียบ อ.กันทรวิชัย, วัดวิไลธรรมาราม อ.เชียงยืน, วัดสระแก้ว อ.ชื่นชม, วัดบ้านโดน อ.ยางสีสุราช, วัดบ้านดอนกลอย อ.นาเชือก เป็นต้น

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดมหาสารคามเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่ดี สามารถช่วยประชาชนลดรายจ่ายในครอบครัว และยังเกิดความสามัคคีขึ้นในชุมชนเมื่อหลายภาคส่วนมาร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัวร่วมกัน

ด้านพระเทพสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดี ก่อประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้น จึงได้ให้วัดใน 13 อำเภอของจังหวัดมหาสารคามที่มีความพร้อมในเรื่องของพื้นที่และแหล่งน้ำเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างแหล่งอาหารในชุมชน เป็นการใช้วัดเป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชน โดยหลายภาคส่วนมาร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัวกัน ขยายผลปลูกผักสวนครัว จากวัดสู่ชุมชน ตามหลัก ‘บวร’

เพื่อเป็นต้นแบบอันดีงามต่อการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 นี้ ขอให้ญาติโยมดำรงชีวิตอยู่อย่างประหยัด อดออม และอดทน สิ่งใดที่พอจะลดรายจ่ายในครอบครัวได้ก็ต้องทำ และให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำเนินชีวิต อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง และหากเหลือบริโภคในครัวเรือนก็อาจแบ่งปันให้เพื่อนบ้านที่ยากไร้ ก็จะได้กุศลแรง”

เชิด ขันตี ณ พล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน