คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

แทน ท่าพระจันทร์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ในจังหวัดสุพรรณบุรี ยุคหลังจากปี พ.ศ.2529 มีคนนำเครื่องแสวงหาแร่มาใช้ตรวจหาพระเครื่องพระบูชาที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน พวกนี้เป็นนักขุดกรุพระ และได้พบพระบูชาและพระเครื่องกันไปหลายครั้ง ในปี พ.ศ.2535 ก็มีการขุดพบพระเครื่องจากการ ใช้เครื่องตรวจหาแร่ ที่บ้านดงเชือก เป็นพระร่วงนั่งทรงเทริดขนนก ที่เรียกว่า “พระร่วงนั่งบ้านดงเชือก”

บ้านดงเชือก ในอดีตเป็นป่าดงพงไพร อยู่ห่างไกล แต่เดิมอยู่ชายแดนของอำเภอสามชุก ปัจจุบันแยกตัวออกไปเป็นอำเภอหนองหญ้าไซ แถวบริเวณบ้านดงเชือกมี ซากโบราณสถาน มีเศษอิฐอยู่มาก และมี ผู้พบพระบูชาศิลปะลพบุรี ครั้งแรกพบ 25 องค์ ครั้งที่ 2 พบอีก 11 องค์ และครั้งที่ 3 พบ 3 องค์ การพบพระในครั้งนั้นพบด้วยเครื่องแสวงหาแร่

การพบพระเครื่องนั้นเล่ากันว่า เป็นคนจากอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เข้ามาใช้เครื่องแสวงหาแร่ในปี พ.ศ.2535 ได้พระร่วงนั่งเทริดขนนกไปจำนวนไม่มากนัก แล้วนำพระไปขายในกรุงเทพฯ ต่อมาพระร่วง นั่งเทริดขนนกก็ได้เข้ามาในตลาดสุพรรณฯ

ก็มีผู้ที่เช่าหาไว้ในครั้งแรกสอบถามดูก็ไม่มีใครรู้ว่าพบพระที่ไหน รู้เพียงแต่ว่า คนเมือง กาญจน์นำพระมาขาย แต่ต่อมาอีกไม่กี่เดือนก็มีข่าวแพร่ออกมาว่า มีพระแตกกรุที่บ้านดงเชือกหนองหญ้าไซ ครั้งนี้ได้พระมากหน่อยประมาณร้อยกว่าองค์ ก็มีคนนำพระเข้ามาขายที่ตลาดบางลี่ เซียนเก่าได้เช่าไว้ และได้แบ่งปันเพื่อนฝูงและคนที่รู้จักไปจนหมด

พระเครื่องที่แตกกรุในครั้งหลังนี้มีแบบพิมพ์เช่นเดียวกับพระเครื่องที่แตกกรุในครั้งแรกไม่มีผิด จึงทำให้รู้ว่าแหล่งที่พบพระเป็นที่บ้านดงเชือก สุพรรณบุรี พระที่พบเป็นพระร่วงนั่งปางมารวิชัยทรงเทริดขนนก มีเส้นสังฆาฏิชัดเจน การตัดขอบตัดชิดองค์พระบ้าง มีปีกบ้าง

ด้านหลังเป็นแอ่งน้อยๆ ขนาดกะทัดรัด กว้างประมาณ 2 ซ.ม. สูงประมาณ 4 ซ.ม. เนื้อพระเป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดงทั้งหมด ผิวพระมีคราบไขขาวปกคลุมทั่วทั้งองค์ เมื่อล้างไขขาวออกบ้างก็จะพบผิวสนิมแดงจับทั้งองค์พระสวยงาม สีสนิมค่อนข้างเข้ม ออกแดงลูกหว้า

พระร่วงนั่งบ้านดงเชือกมีพุทธศิลปะแบบลพบุรี และมีขนาดไม่ใหญ่ เลี่ยมห้อยคอกำลังพอดีครับ แต่ก็หายากหน่อย เนื่องจากมีจำนวนพระที่พบไม่มากนัก ส่วนมากจะตกอยู่กับคนสุพรรณฯ เก็บเงียบกันหมด พระร่วงนั่งบ้านดงเชือก เป็นพระกรุที่น่าสนใจ สวยทั้งศิลปะและเนื้อสนิมแดงคราบไข บ่งบอกถึงความเก่าถึงยุคครับ

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระร่วงนั่งบ้านดงเชือกจากหนังสือ อมตพระกรุอันล้ำค่าของไทย มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน