ซุ้มโขง โคปุระ

คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม

ซุ้มโขง โคปุระ – ประตูหรือทางเข้าศาสนสถานหรืออาคารพิเศษ เรียกว่า ซุ้มโขง โคปุระ มีความหมายหรือสัญลักษณ์ของแดนต่อกันระหว่างพื้นที่ของโลกมนุษย์กับสวรรค์ก็ได้ หรือจะหมายถึงแดนต่อของพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนที่ผ่านเข้ามาต้องมีการสำรวมกิริยามารยาท

คำว่า ซุ้ม หรือสิ่งที่เป็นซุ้ม คือต้นไม้หรือเถาวัลย์ที่คลุมมีทางลอดได้ หรือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีทางลอดได้ หรือสิ่งก่อสร้างที่ทำขึ้นเพื่อรับเสด็จ หรือที่อยู่ที่พักเพื่อกันแดดกันฝนชั่วคราว มีหลังคาเป็นรูปโค้ง

ส่วนคำว่า โขง น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ของ หรือ ขร ที่คงจะหมายถึงความใหญ่

ซุ้มโขง ก็คือ ประตูทางเข้าที่มีหลังคาโค้ง

ซุ้มโขง โคปุระ

ซุ้มโขงน่าจะพัฒนาการมาจากสถาปัตยกรรมขอมโบราณ ที่มีประตูทางเข้าเขตบริเวณปราสาท หรือศาสนสถานใหญ่ เรียกว่า โคปุระ หรือในอินเดียโบราณเรียกประตูนี้ว่า โตรณะ อันหมายถึงแดนต่ออันศักดิ์สิทธิ์

คติทางศาสนาของไทยฝ่ายเหนือที่มักจะทำซุ้มโขงเพื่อบอกถึงอาณาเขตภายในเป็นพื้นที่พิเศษ หรือเป็นพื้นที่สวรรค์ ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าสู่สวรรค์ต้องสำรวมกิริยามารยาท ในชวาของอินโดนีเซียมีประตูทางเข้าของศาสนสถานที่ใหญ่โตสวยงามแต่ไม่มีหลังคา มีคติสัญลักษณ์ที่ป้องกันมิให้มีสิ่งชั่วร้ายผ่านเข้าซุ้มประตูหรือ โคปุระ

ส่วนประตูญี่ปุ่น เรียก โทโรอิ (น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า โทรานะ) มีความหมายว่า อาณาเขตเบื้องหลัง เสานับเป็นอาณาเขตของเทพเจ้า

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน