คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 : หลวงพ่อเต๋ คังคสุวัณโณ วัดสามง่าม จ.นครปฐม
หลวงพ่อเต๋ คังคสุวัณโณ – วันจันทร์ที่ 15 มิ.ย.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 129 ปี ชาตกาล “หลวงพ่อเต๋ คังคสุวัณโณ” อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่ง วัดสามง่าม (อรัญญิกาวาส) อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เจ้าตำรับเครื่องรางของขลังกุมารทองอันโด่งดัง

เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 15 มิ.ย.2434 บ้านสามง่าม หมู่ที่ 4 อ.ดอนตูม จ.นครปฐม

เมื่ออายุ 15 ปี บรรพชาที่วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร ศึกษาพระธรรมวินัยและเล่าเรียนวิทยาคมกับหลวงลุงแดง

ครั้งหนึ่ง หลวงลุงแดงเห็นว่าบ้านสาม ง่ามควรจะมีพระอาราม ให้ชาวบ้านประกอบกิจทางพระพุทธศาสนา จึงได้ไปสร้างวัดที่บ้านดอนตูม

พ.ศ.2454 ท่านมีอายุได้ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีพระครูอุตตรการบดี (หลวงพ่อทา) วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์, พระสมุห์เทศ วัดทุ่งผักกูด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการจอม วัดลำเหย เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มีโอกาสศึกษาสรรพวิชาจากพระอุปัชฌาย์ คือ หลวงพ่อทา พระเถระผู้ทรงเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังมาก

ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางธรรม กัมมัฏฐาน ตลอดจนรับการสืบทอดด้านพุทธาคมต่างๆ

ต่อมาไม่นาน หลวงลุงแดงมรณภาพที่วัดกาหลง ก่อนมรณภาพได้ฝากวัดสามง่ามให้หลวงพ่อเต๋ดูแล

เริ่มออกท่องธุดงค์ระหว่างพ.ศ.2455-2472 เป็นเวลา 17 ปี รวมทั้งศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติมจากหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อกอน วัดบ่อตะกั่ว เป็นต้น

หลังท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดสามง่าม นอกจากพัฒนาวัดแล้วยังได้สร้างสถานีอนามัย บ้านพักนายแพทย์และพยาบาล โรงเรียนประถมและมัธยม สถานีตำรวจ ถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำบาดาล สร้างความเจริญให้แก่ชุมชนด้วย

พ.ศ.2475 พระเทพเจติยาจารย์ วัดเสน่หา เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสามง่าม

พ.ศ.2476 แต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบล มีวัดอยู่ในการปกครอง 5 วัด คือ วัดสามง่าม วัดลำลูกบัว วัดแหลมมะเกลือ วัดทุ่งสีหลง และวัดตะโกสูง

ด้านวัตถุมงคลสร้างไว้มากมาย มีทั้งพระเนื้อดิน เนื้อผง เนื้อว่าน เหรียญรูปเหมือน พระกริ่ง รูปหล่อ เหรียญหล่อ และเครื่องรางของขลัง ตะกรุดหนังเสือ ตะกรุดสามห่วง สีผึ้ง เป็นต้น

พระเครื่องวัตถุมงคลเน้นเรื่องพุทธคุณเป็นสำคัญ ท่านตั้งใจสร้างให้บูชาติดตัวเพื่อป้องกันภัยต่างๆ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

เนื้อพระส่วนมากเป็นแบบเนื้อดินผสมผงปนว่าน เนื้อดินอาถรรพ์ที่นำมาจัดสร้างวัตถุมงคล ได้แก่ ดินโป่ง 7 โป่ง ดิน 7 ป่าช้า ดินขุยปู เป็นต้น ผสมลงไปในพระทุกพิมพ์ ด้านหลังองค์พระจะประทับชื่อหลวงพ่อเต๋ กดลึกลงไปในเนื้อพระ

อย่างไรก็ดี วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้ คือ กุมารทอง ตำราการสร้างได้จากหลวงลุงแดง ประกอบด้วย ดินโป่ง 7 โป่ง ดิน 7 ป่าช้า ดินขุยปู นำมาปั้นกุมารทอง มอบให้ชาวบ้านนำไปเป็นเครื่องราง

ในปีพ.ศ.2505 จัดสร้างพระเครื่องเนื้อดินพิธีใหญ่อีกครั้ง เพื่อฉลองอายุครบ 5 รอบ เนื้อดินที่ใช้ยังได้นำดินทวารวดี ที่ชำรุดหัก และผงว่านผสมลงไปด้วย สังเกตเนื้อองค์พระเมื่อเผาแล้วเนื้อดินจะนุ่มเมื่อถูกเหงื่อถูกสัมผัส ปรากฏมวลสารและว่านแลดูเก่ามาก พิมพ์ที่จัดสร้างมีดังนี้ 1.พระรูปเหมือนซุ้มเรือนแก้ว 2.พระปรกโพธิ์ใหญ่ 3.พระปรกโพธิ์เล็ก 4.พระตรีกาย (พระสาม) 5.พระทุ่งเศรษฐี

พระเครื่องเนื้อดิน 4 พิมพ์แรก ด้านหลังจะมียันต์อักขระนูน เรียกว่า ยันต์สามง่าม เนื่องจากด้านหลังมีรูปตรี เป็นสัญลักษณ์ของวัดสามง่าม ส่วนพระทุ่งเศรษฐี ด้านหลังมียันต์และฉายาคงทอง กดประทับลึกลงไปในเนื้อ

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2524 สิริอายุ 80 ปี พรรษา 59

วัดสามง่าม ยังคงบรรจุสังขารของหลวงพ่อเต๋ไว้ให้กราบไหว้บูชาจนถึงทุกวันนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน