คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 : หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว จ.สิงห์บุรี

หลวงพ่อซวง อภโย – วันพฤหัสฯที่ 18 มิ.ย.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 121 ปี ชาตกาล “หลวงพ่อซวง อภโย” วัดชีปะขาว หรือ วัดชีผ้าขาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี พระเกจิชื่อดัง ได้รับสมญานาม “เทพเจ้าแห่งเมืองสิงห์” หรือที่ญาติโยมมักเรียกว่า “พ่อใหญ่”

นอกจากเป็นพระเกจิผู้ทรงวิทยาคุณแล้วยังเพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม กอปรด้วยเมตตาบารมี ให้ความอนุเคราะห์แก่ศิษยานุศิษย์และ ชาวบ้านทั่วไปโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เปรียบเสมือนบิดาของชาวบ้านแถบวัดชีปะขาวและบ้านใกล้เรือนเคียงทีเดียว

จัดสร้างวัตถุมงคลไว้หลายประเภท ทั้งเนื้อโลหะ เนื้อผง รูปถ่าย เครื่องรางของขลัง ฯลฯ แต่ละประเภทมีจำนวนสร้างน้อย จึงค่อนข้างหายาก อาทิ พระลีลาหล่อ รูปหล่อ เหรียญหล่อ พระปรอท ล็อกเกต พระผงกลีบบัว ตะกรุด แหวน ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งล้วนทรงพุทธคุณเป็นเลิศ

นามเดิมว่า ซวง เกิดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2442 ที่ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี

อายุ 26 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดโบสถ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง โดยมี หลวงพ่อเฟื่อง วัดสกุณาราม (วัดนก) อ.ไชโย พระเกจิชื่อดังผู้สร้างพระพิมพ์สมเด็จวัดนกอันลือลั่น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “อภโย”

จากนั้นได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดชีปะขาว จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส

ได้รับการถ่ายทอดวิปัสสนากัมมัฏฐานเบื้องต้นและวิทยาคมต่างๆ จากพระอาจารย์คำ วัดสิงห์ ต.พระงาม ศิษย์หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อสำเร็จ พระอาจารย์คำจึงแนะนำให้ไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแป้น วัดเสาธงใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้เป็นสหธรรมิกศิษย์พระเกจิชื่อดังหลายรูป อาทิ พระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส, หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส จ.สมุทรปราการ, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม, หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม ฯล

จากนั้น หลวงพ่อแป้นแนะนำให้ไปศึกษาต่อกับหลวงพ่อฤทธิ์ วัดบ้านสวน จ.สุโขทัย สหธรรมิกที่สนิทสนมกันมาก ท่านเป็นพระเถระที่เก่งกล้าทางด้านวิทยาคมเป็นอย่างสูง เป็นศิษย์สายตรงของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ธนบุรี

มีความเชี่ยวชาญทั้งวิปัสสนากัมมัฏฐานมีฌานและพลังจิตอันแก่กล้า มีอภิญญาสมาบัติ และแตกฉานทางไสยเวทในหลายๆ ด้าน ว่ากันว่า ท่านมีวาจาสิทธิ์ ทั้งสามารถล่วงรู้วาระจิตใจของผู้อื่น และรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปฏิเสธสมณศักดิ์และตำแหน่งใดๆ แต่ในที่สุด พระราชสิงหวรมุนี ได้ขอร้องให้รับสมณศักดิ์ฐานานุกรม “พระวินัยธร” ซึ่งขณะนั้นว่างลงพอดี

มรณภาพเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2510 สิริอายุ 69 ปี พรรษา 45 ก่อนมรณภาพ ท่านกำชับบอกกับคณะกรรมการวัดว่า “ถ้าต้องการให้โบสถ์หลังใหม่ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่แล้วเสร็จ อย่าเพิ่งฌาปนกิจสังขารของท่าน มิฉะนั้นโบสถ์จะสร้างไม่เสร็จ”

คณะกรรมการวัดจึงปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของท่าน โดยเก็บรักษาสังขารของท่านไว้ในหีบไม้ ประดิษฐานไว้บนศาลาการเปรียญ เพื่อให้คณะศิษย์และชาวบ้าน ได้บูชากราบไหว้

ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานโบสถ์หลังใหม่ก็สร้างเสร็จตามประกาศิต

หลังจาก ‘หลวงพ่อซวง’ มรณภาพไป 26 ปี เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2536 คณะกรรมการวัดได้เปิดหีบไม้ที่บรรจุสรีรสังขารของท่าน เพื่อทำพิธีฌาปนกิจ ปรากฏว่าสรีรสังขารไม่เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลาเป็นที่น่าอัศจรรย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน