คอลัมน์ ข่าวสดพระเครื่อง : ‘คนละ1บาตร บาตรละ1คน’ งานอุ้มบาตรเข้าวัด-วัดอุทยาน

คนละ1บาตร บาตรละ1คนเมื่อเร็วๆ นี้ วัดอุทยาน ต.บางขุนกรอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดย “พระครูนนทมงคลวิศิษฐ์” หรือ พระอาจารย์ศรี โอภาโส เจ้าอาวาสวัดอุทยาน จัดงานบุญประเพณีอุ้มบาตรเข้าวัด ตามโครงการ “คนละ 1 บาตรบาตรละ 1 คน สร้างความสามัคคี”

โดยญาติโยมที่ร่วมทำบุญได้มารับบาตรพระออมสินจำลองขนาดเล็กจากวัด ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 และนำบาตรกลับมาเปิดที่วัด

โดยจะนำปัจจัยทั้งหมดไปพัฒนาที่ดินของวัด ให้เป็นสวนธรรมสุขภาพ และสถานที่ปฏิบัติธรรม เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของสาธุชนทั่วไป และวัดจะได้พัฒนาเป็นวัดต้นแบบของการพัฒนาสังคมยุคใหม่ให้รู้รัก รู้สามัคคี และทำความดีร่วมกัน ทั้งนี้มีศิษยานุศิษย์และประชาชนนับพันคนต่างถือบาตรพระจำลองที่ทำเป็นกระปุกออมสิน นำกลับมาถวายคืนให้กับทางวัด

พระครูนนทมงคลวิศิษฐ์กล่าวว่า ประเพณีอุ้มบาตรเข้าวัดนี้ มีวัตถุประสงค์ให้ญาติโยมเข้าวัด ให้มีศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าของมนุษย์ ศีลถือว่าเป็นแม่บทแม่แผน ที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงแก่นธรรมอันแท้จริงและบรรลุถึงความสำเร็จ มีศีลรักษาทรัพย์สมบัติ รักษาหน้าที่การงานให้สำเร็จประโยชน์สุขทุกประการ มีศีลอย่างเดียว สำเร็จหลายอย่าง

แก่นแท้แห่งธรรมของพระพุทธศาสนา ต้องมีศีลเป็นตัวกำหนด หลวงปู่เพิ่ม อดีตเจ้าอาวาส วัดอุทยาน มักถามญาติโยมที่มาหาอยู่เสมอว่าโยมมีศีลหรือยัง ถ้าศีลไม่มีสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ธรรมแท้เกิดขึ้นจากการมีศีลทุกประการ

“ซึ่งการทำบุญในครั้งนี้ เป็นที่น่าชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีประชาชนเดินทางเข้ามาทำบุญกันด้วยความรัก ความสามัคคี บางคน บางกลุ่ม บางหมู่คณะ ได้มาตั้งโรงทานอาหาร น้ำดื่ม ผลไม้ ของหวาน นำมาออกร้าน เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมทำบุญ” เจ้าอาวาสวัดอุทยานกล่าว

สำหรับการอุ้มบาตรเวียนรอบอุโบสถ โดยนางพิมพ์นรี โหตะไวทยากร ประธานในพิธี ถือเป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา ที่ญาติโยมอุ้มบาตรประกาศสืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ญาติโยมอุ้มบาตรเวียนรอบอุโบสถ

อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย วัดอุทยานมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ด้วยการจัดงานในพื้นที่โล่งแจ้ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีเจ้าหน้าที่ของวัดกว่า 10 คนอำนวยความสะดวก ตามมาตรการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 5 อย่างคือ

จัดให้มีพื้นที่เฉพาะบุคคลที่ห่างกัน ผู้ที่เข้าร่วมงานต้องใส่แมสก์ (หน้ากากอนามัย) ทุกคน มีเจลแอลกอฮอล์ทั่วบริเวณงาน จัดจุดล้างมือไว้ 3 จุด แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และจะไม่ให้อยู่ในพื้นที่แออัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับวัดอุทยานสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2200 ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมทีบริเวณนี้เข้าใจกันว่าเป็นที่ส่วนของพระมหากษัตริย์สมัยพระเจ้าอู่ทอง ขณะเสด็จมาประทับในพื้นที่นี้ เมื่อครั้งมีโรคระบาด สำหรับวัดอุทยานน่าจะเป็นสถานที่อันเป็นอุทยานในสมัยนั้น เมื่อโรคร้ายที่ระบาดได้หายไป พระมหากษัตริย์เสด็จกลับแล้ว จึงได้มีการจัดสร้างวัด และใช้นามตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งวัด คือส่วนของอุทยาน จึงได้ชื่อว่า วัดอุทยาน

ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์ได้เริ่มมีมาอย่างจริงจังหลังจาก พ.ศ.2500 เป็นต้นมา

เจ้าอาวาสวัดอุทยานรูปแรกคือ หลวงปู่เพิ่ม เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ยามเช้าท่านออกบิณฑบาตต้องไปทางเรือ ซึ่งก็จะมีชาวสวน พ่อค้าแม่ขาย พายเรือมาใส่บาตร

เป็นที่ร่ำลือว่าแม่ค้าพ่อค้าที่มาตักบาตร หลวงปู่เพิ่มจะมอบแผ่นทอง 1 แผ่น ให้ไปติดที่หัวเรือ ปรากฏว่าพ่อค้าแม่ค้าที่นำแผ่นทองดังกล่าวไปติดที่หัวเรือ ทำมาค้าขายดีขึ้นจนร่ำรวยไปตามกัน จนเป็นที่เล่าขานถึงปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน