คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 : หลวงปู่อ่ำ ธัมมกาโม วัดสันติวรญาณ จ.เพชรบูรณ์

“พระครูสันติวรญาณ” หรือ “หลวงปู่อ่ำ ธัมมกาโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดสันติวรญาณ ต.วังศาล อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติและปฏิปทาน่าเลื่อมใส รวมทั้งการสอนธรรมกัมมัฏฐาน เป็นศิษย์รุ่นกลางของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายปฏิบัติวิปัสสนา

เกิดในสกุล ลาสิม เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2471 ที่ ต.ตระการ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ครอบครัวประกอบอาชีพชาวนา มีฐานะยากจน

อายุ 26 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2497 ที่วัดประชาพิทักษ์ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีพระครูพุทธสารสุนทร วัดประชาพิทักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาปัญญา กุสโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ได้รับฉายา ธัมมกาโม มีความหมายว่า ผู้ปรารถนาในพระธรรม

อยู่ปฏิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ระยะเวลาหนึ่ง ต่อมากราบลาขอเดินทางไปยัง จ.สกลนคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม

สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท และเอก ตามลำดับ จากสำนักเรียนวัดคามวาสี อ.สว่างดินแดน จ.สกลนคร
ต่อมาไปขอฝากตัวเป็นอันเตวาสิกของหลวงปู่มั่น เพื่อศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน นั่งสมาธิเจริญจิตตภาวนา พร้อมกับได้ออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หลวงปู่อ่ำ ธัมมกาโม วัดสันติวรญาณ จ.เพชรบูรณ์ : อริยะโลกที่ 6

มีโอกาสศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานกับหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกองเพล จ.อุดรธานี, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดม สมพร จ.สกลนคร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี

เดินธุดงค์ผ่านมายังพื้นที่บริเวณบ้านเขาน้อย ต.วังทรายพูน อ.เมือง จ.พิจิตร พบว่าเป็นสถานที่สงบวิเวก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ประกอบกับญาติโยมแลเห็นถึงจริยาวัตร จึงได้นิมนต์ขอให้อยู่จำพรรษา ก่อนสร้างวัดในเวลาต่อมา ชื่อ วัดป่าเขาน้อย และอยู่จำพรรษาเป็นเวลานานหลายปี

กระทั่งเมื่อเห็นว่า ชุมชนวัดป่าเขาน้อยมีความเจริญมากขึ้น มีประชากรเข้ามาอาศัยอยู่หนาแน่น จึงได้มอบหมายการดูแลปกครองพระสงฆ์ ให้แก่ หลวงปู่จันทรา ถาวโร สหธรรมิกอีกรูปหนึ่ง ส่วนตัวเองเดินธุดงค์ไปยังป่าถ้ำเขาเขียว เขตทุ่งแสลงหลวง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก อยู่จำพรรษาอยู่หลายปี ปรากฏว่า สำนักสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่สามารถ จะสร้างเป็นวัดได้ จึงได้เดินทางเข้ามายัง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์

ชาวบ้าน คหบดี ชาว อ.พิจิตร ทราบว่าหลวงปู่เดินธุดงค์มายังบ้านวังชะนาง ต.วังศาล อ.วังโป่ง จึงได้พากันรวบรวมเงินซื้อที่ดินบริเวณบ้านวังชะนางจำนวน 80 ไร่ ถวายให้หลวงปู่อ่ำ ก่อตั้งเป็นสำนักธุดงคสถาน พร้อมทั้งชักชวนญาติโยมเข้ามารักษาศีลปฏิบัติธรรม

หลวงปู่อ่ำและชาวบ้านร่วมกันก่อสร้างศาสนสถาน ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ และมหาเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาจึงได้รับการยกฐานะเป็นวัด ถูกต้องตามกฎหมาย ชื่อวัดสันติวรญาณ

ในบางครั้งได้รับการนิมนต์ให้ไปร่วมพิธีนั่งปลุกเสกอธิษฐานจิตวัตถุมงคลหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะปฏิเสธ เพราะเป็นพระสายปฏิบัติกัมมัฏฐาน

เป็นพระที่เคร่งครัดวินัยมาก วัตรที่ปฏิบัติ คือ นอกจากจะทำวัตรสวดมนต์เป็นประจำแล้ว สิ่งที่ถือเป็นกิจวัตรคือ การออกบิณฑบาต โปรดญาติโยม ทุกเช้า แม้อายุจะล่วงเข้าวัยชรา สุขภาพร่างกายของท่านยังดูแข็งแรง เดินทางได้ระยะไกลๆ

บอกว่ามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นเพราะปฏิบัติกัมมัฏฐาน เจริญสติภาวนาเป็นประจำ
“เมื่อจิตนิ่ง จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกหรือส่ายไปส่ายมา จนถึงขั้นเป็นเอกคตจิต ความสุข ความสันติ ก็จะตามมา” เป็นหลักคำสอนสำคัญ

ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง หลวงปู่อาพาธ เป็นโรคหัวใจ มีอาการเหนื่อยหอบ กระทั่งลูกศิษย์นำหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช โดยแพทย์ได้ผ่าตัด แต่เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิตและน้ำท่วมปอด มรณภาพอย่างสงบ ในช่วงค่ำของวันที่ 25 มิ.ย.2558 ที่โรงพยาบาลศิริราช

สิริอายุ 87 ปี พรรษา 61

 

โดย…อารีย์ สีแก้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน