คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 : ครบ 103 ปีชาตกาล พระราชพรหมยาน

พระราชพรหมยาน – วันอาทิตย์ที่ 28 มิ.ย.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 103 ปี ชาตกาล “พระราชพรหมยาน” (วีระ ถาวโร) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ” อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) จ.อุทัยธานี มีชื่อเสียงในด้านการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานจนได้วิชามโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ)

มีนามเดิม สังเวียน สังข์สุวรรณ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มิ.ย.2460 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายควงและนางสมบุญ สังข์สุวรรณ เกิดที่ ต.สาลี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

อายุ 6 ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาล วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระ นครศรีอยุธยา จบชั้นประถมปีที่ 4 เมื่ออายุ 15 ปี เข้ามาอยู่กับท่านยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี ในสมัยนั้น และศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ

อายุ 19 ปี เข้าเป็นเภสัชกรทหารเรือ สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ

เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2480 ที่วัดบางนมโค โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เล็ก เกสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมตรี-โท-เอก ตามลำดับ

ระหว่างปี พ.ศ.2480-2481 ศึกษาพระกัมมัฏฐานจากครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก, พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค, พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน, พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า, หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ

พ.ศ.2481 ย้ายเข้ามาจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี เพื่อเรียนบาลี ต่อมาสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ก่อนย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดอนงคาราม หลังจากนั้นเป็นรองเจ้าคณะ 4 วัดประยุรวงศาวาส เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค และย้ายไปอยู่อีกหลายวัด

พ.ศ.2511 จึงมาอยู่วัดท่าซุง บูรณะซ่อมสร้างและขยายวัดท่าซุง จากเดิมมีพื้นที่ 6 ไร่เศษ จนกระทั่งเป็นวัดที่มีบริเวณพื้นที่ประมาณ 289 ไร่

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุธรรมยานเถร

พ.ศ.2532 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชพรหมยาน

ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบทอยู่ ทำหน้าที่ของพระสงฆ์และสาธารณสงเคราะห์ กล่าวคือ ท่านสร้างโรงพยาบาล, สร้างโรงเรียน, จัดตั้งธนาคารข้าว, ออกเยี่ยมเยียนทหารและตำรวจตระเวนชายแดนตามหน่วยต่างๆ เพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ และแจกอาหาร, ยา, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และวัตถุมงคลทั่วประเทศ

ด้านพระศาสนา อบรมสั่งสอนพุทธบริษัท โดยให้ประพฤติปฏิบัติกาย, วาจา, ใจ, ในทาน, ในศีลและในกัมมัฏฐาน 10 ทัศ และมหาสติปัฏฐานสูตร จัดพิมพ์หนังสือคำสอนกว่า 15 เรื่อง และบันทึกเทปคำสอนกว่า 1,000 เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้แสดงธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว

ช่วยสร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนามากกว่า 30 วัด รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูวัดท่าซุง สร้างพระไตรปิฎก, หนังสือมูลกัจจายน์ และถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า 200 ไตร

สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชประสงค์ ศูนย์แห่งนี้ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 งานของศูนย์

รวมทั้งการแจกเสื้อผ้า, อาหาร และยารักษาโรคแก่ราษฎรผู้ยากจน, การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ, การส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วย, การให้ทุนนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน และการบริจาคทุนทรัพย์ให้แก่มูลนิธิและโรงพยาบาลต่างๆ ฯลฯ

ต่อมา อาพาธด้วยโรคปอดบวมอย่างแรง และติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และมรณภาพอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ต.ค.2535

สิริอายุ 75 ปี พรรษา 55

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน