ย้อนไปเมื่อวันที่ 20-21 มิ.ย.2563 ที่บริเวณด้านหลังหอพระประธานกันทรวิชัย จ.มหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม, พระเทพสิทธาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม, พระสุทธิธรรมโสภณ เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม (ธ)

พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ อาทิ นายชูชาติ ราชจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม, นางสงวน มะเสนา พัฒนาการจังหวัดมหาสารคาม, นายอำพร กุดแถลง รักษาการ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดมหาสารคาม เป็นต้น

รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน นิสิตนักศึกษา และประชาชน จ.มหาสารคาม ร่วมสืบสานประเพณีบุญซำฮะของชาวอีสาน

คำว่า “ซำฮะ” เป็นภาษาไทยอีสานตรงกับภาษาไทยภาคกลางว่า “ชำระ” หมายถึง ทำให้สะอาด ปราศจากมลทิน

แต่การจัดงานปี พ.ศ.2563 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ดังนั้น การจัดงานบุญซำฮะปีนี้ ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ จึงใช้ชื่องานว่า “งานบุญ ซำฮะ ซำฮะใจ ต้านภัยโควิด-19” นอกจาก จะร่วมกันสืบสานประเพณีบุญซำฮะแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชนร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

กิจกรรม วันที่ 20 มิ.ย. เริ่มแต่ช่วงเช้าเนื่องจากอยู่ระหว่างการแพร่ระบาดของ เชื้อ โควิด-19 จึงมีวัด หน่วยงานราชการ เหล่ากาชาดจังหวัด องค์กรเอกชน รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธา นำถุงยังชีพมาแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงาน อีกทั้งมีกิจกรรมของ 3 ศาสนา

ต่อมาเริ่มเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนายเกียรติศักดิ์ ประธานพิธีได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายสักการะพระเทพสิทธาจารย์

จากนั้นประธานเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายสักการะเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และกล่าวราชสดุดีถวายพระพร

เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีลให้พร ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาธรรม อาราธนาธรรม จากนั้นการแสดงพระธรรมเทศนามหาชาติเวสสันดรชาดกประยุกต์ 13 กัณฑ์ เริ่มขึ้น

สำหรับพระสงฆ์ที่แสดงพระธรรมเทศนา ประกอบด้วย พระปลัดอภิสิทธิ์ ธัมมวุฑโฒ, พระอาจารย์นภดล ฉันทสุโภ และพระครูวิจาติธรรมสังวร โดยมีพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศร่วม รับฟังจำนวนมาก

ส่วนช่วงเย็นมีการสวดเจริญพระพุทธมนต์พระสงฆ์ สวดชัยมงคลคาถา เจริญรัตนสูตร
วันที่ 21 มิ.ย.ช่วงเช้า มีกิจกรรมฟ้อนรำจัมปาศรี และกุดนางใย ที่บริเวณหอนาฬิกากลางเมืองมหาสารคาม ร่วมทำบุญตักบาตร พระสงฆ์ที่บริเวณหอพระกันทรวิชัย และเมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จ พระสงฆ์อนุโมทนาและประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้ร่วมพิธี

จากนั้นเป็นพิธีปัดรังควานโดยมีพระเกจิอาจารย์ ชื่อดังประกอบพิธี อาทิ พระครูสารกิจประยุต วัดบ้านอุปราช, พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ วัดป่าวังน้ำเย็น เป็นต้น

หลังเสร็จพิธี ประชาชนนำกรวด หิน ทราย น้ำมนต์ ที่ร่วมพิธี ปัดรังควาน นำกลับไปประพรมบ้านเรือน ไร่นาหรือสถานที่ทำงาน เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคล

จากนั้นผู้ร่วมพิธีและคณะสงฆ์เคลื่อนขบวนไปยังสี่แยกสี่มุมเมือง ประกอบด้วย แยกแก่งเลิงจาน แยกบ้านหม้อ แยกไปบ้านท่าประทายและแยกสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตมหาสารคาม เมื่อถึงจุดสี่แยก ที่กำหนด พระสงฆ์ประกอบพิธีปัดรังควาน

โดยนำสิ่งของ หิน กรวดทราย ที่ผ่านการปลุกเสกในพิธี ไปฝังและหว่าน พร้อมกับกั้นประตูเมืองด้วยเชือกหญ้าคา ป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าในชุมชน

นอกจากทำพิธีประเพณีบุญซำฮะ หลายหมู่บ้านถือโอกาสร่วมกันพัฒนาถนนหนทางปัดกวาดทำความสะอาดหมู่บ้านให้เจริญหูเจริญตาผลที่ได้ตามมาคือ คนในชุมชนมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกิดความรัก ความสามัคคี

บุญซำฮะ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรก สิ่งอัปมงคลออกจากบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ชุมชน รวมทั้งออกจากร่างกาย ทำให้จิตใจสะอาด สดใส ในฮีตสิบสองตามประเพณีของชาวอีสาน ด้วยสาระสำคัญของประเพณีบุญซำฮะที่จัดทำขึ้น

เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานบุญประเพณีนี้ให้อยู่คู่ชุมชนสืบไป สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม คณะสงฆ์จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับทุกภาคส่วนจึงมีแนวคิดในการสืบสานประเพณีบุญซำฮะขึ้นเป็นประจำทุกปี

บุญซำฮะ จึงเป็นบุญประเพณีที่ดีของชาวอีสาน สมควรที่ทุก ภาคส่วนจะต้องอนุรักษ์และสืบสานเอาไว้ให้คงอยู่คู่กับสังคม ชาวอีสานสืบไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน