คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

“หลวงปู่บุญมา มหายโส” หรือ “พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม พระป่าสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ลูกศิษย์ที่เคยธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

มีนามเดิมว่า กุมาร นะคะจัด เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 ส.ค.2444 ที่บ้านสามผง ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม บิดา-มารดาชื่อ นายพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และนางดา นะคะจัด เป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 8 คน

ชีวิตในวัยเด็ก ร่ำเรียนหนังสือลาวจากบิดา พอมีความรู้อ่านออกเขียนได้ ก่อนไปเรียนหนังสือที่ ร.ร.วัดโพธิ์ชัย ต.สามผง โดยมีนายศรีทูล เป็นครูผู้สอน

กระทั่งอายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดกลาง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โดยมีพระครูจรรยาภิรมย์ เจ้าคณะอำเภอท่าอุเทน เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระ อาจารย์เกษ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลังอุปสมบทกลับไปอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านเกิด โดยมีพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตตโต เป็นเจ้าอาวาส ได้ศึกษาอักษรธรรม-อักษรขอม ก่อนที่พระอาจารย์เกิ่งได้นำลูกศิษย์ออกฝึกธุดงค์กัมมัฏฐาน

พ.ศ.2465 ทราบว่าพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น เดินทางมาเผยแผ่วิปัสสนากัมมัฏฐานที่บ้านหนองลาด อ.เมือง จ.สกลนคร พระอาจารย์เกิ่งจึงได้นำพระภิกษุ-สามเณรจำนวนหนึ่ง ไปถวายตัวเป็นลูกศิษย์ จากนั้นได้ร่วมคณะธุดงค์ผ่าน อ.อากาศอำนวย ก่อนมาตั้งสำนักวิปัสสนาที่ป่าช้า ต.สามผง

พ.ศ.2466 ได้นิมนต์พระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่สำนักวิปัสสนาดังกล่าว กระทั่งนิมิตเห็นพระอรหันต์มายืนเป็นสิริมงคล จึงตั้งวัดป่าสามผงขึ้น ซึ่งมีพระภิกษุ สายมหานิกายจำนวน 30 รูป และได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตกับพระเทพสิทธาจารย์ หรือ หลวงปู่จันทร์ ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม

จากนั้นท่านได้เปลี่ยนนามเดิมที่ชื่อ กุมาร เป็นชื่อ “บุญมา” ก่อนได้รับฉายา “มหายโส” นับแต่นั้นมา

ต่อมา พระอาจารย์เสาร์ ธุดงค์มาจาก จ.อุดรธานี แวะจำพรรษาที่วัดป่าสามผงนาน 2 พรรษา ก่อนร่วมธุดงค์กับพระเณรหลายรูปผ่าน อ.ท่าอุเทน โดยมีพระอาจารย์บุญมา มหายโส ติดตามมาด้วย เพื่อที่จะมาตั้งวัดในตัว จ.นครพนม

ชาวบ้านจึงจัดหาที่พักถวาย โดยปลูกกระต๊อบเล็กมุงหญ้าแฝกเป็นกุฏิพำนัก

ต่อมานายประดิษฐ์ มังคละคีรี เจ้าของสวนเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงถวายที่ดินให้เป็นสำนักสงฆ์ 27 ไร่เศษ ก่อนตั้งชื่อว่าวัดโพนแก้ว เมื่อ พ.ศ.2472 ซึ่งพระอาจารย์เสาร์เป็นผู้นำชาวบ้านสร้างวัดดังกล่าว

พระอาจารย์เสาร์จำพรรษาที่วัดโพนแก้วนาน 1 พรรษา ก่อนข้ามโขงไปปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานที่ภูเขาควาย ประเทศลาว ส่วนสำนักวัดโพนแก้วท่านได้มอบให้พระอาจารย์บุญมา เป็นผู้ปกครองสงฆ์ จนได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2493 ก่อนเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดอรัญญิกาวาส

พ.ศ.2490 เกิดสงครามอินโดจีน พระอาจารย์บุญมา ได้อพยพหลบภัยไปจำพรรษาวัดบ้านเกิด

ภายหลังสงครามสงบลง พ.ศ.2493 ท่านได้กลับมาพัฒนาวัดสร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ เมรุ พร้อมนำญาติโยมก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าวัดและกำแพงวัด

จนกระทั่งได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ

หลวงปู่บุญมา ตั้งใจรักษาวินัยอย่างเคร่งครัด ตามรอยครูบาอาจารย์ ได้อบรมพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาบวชไม่ว่างเว้น โดยกลางคืนอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่วนกลางวันให้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมและศึกษาชั้นสามัญที่วัดศรีเทพฯ

ขณะอยู่รับใช้พระอาจารย์เสาร์ มีวันหนึ่งในเวลา 4 ทุ่ม ท่านได้เรียกพระอาจารย์ บุญมาไปหาที่กุฏิ ก่อนปรารภว่า “เราได้ปฏิบัติพระศาสนา เที่ยวอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณร และประชาชนให้รู้แจ้งเห็นจริงในศีลธรรมมาด้วยความลำบากแสนเข็ญ บางบ้านเขาเอาปืนมายิง บางบ้านเขาว่าเป็นอีแร้ง เอาปืนไปยิงทุกหนแห่ง ขอให้พิจารณาในธรรมของพระบรมศาสดาจารย์ แล้วใช้วิริยะความเพียรอย่าท้อถอย อย่าได้ละทิ้งวัดนี้ไปเทอญ”

พ.ศ.2522 หลวงปู่บุญมา มหายโส มรณภาพอย่างสงบที่กุฏิภายในวัดอรัญ ญิกาวาส สิริอายุ 77 ปี พรรษา 57

เมื่อปี พ.ศ.2540 คณะศิษย์ต่างรวมใจสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่บุญมา ที่บริเวณกำแพงทิศเหนือของวัด ภายในมีรูปปั้น พระอาจารย์เสาร์, พระอาจารย์มั่น และหลวงปู่บุญมา พร้อมเครื่องอัฐบริขารไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน