คอลัมน์ อริยะโลกที่6

“พระสาสนานุรักษ์” หรือ “หลวงปู่ทิม รตนโชโต” อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 8 วัดประยุรวงศาวาส (วัดรั้วเหล็ก) เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ครองวัดระหว่าง ปี พ.ศ.2436-2441 และเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนวลนรดิศ (วัดมะกอกใน) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ครองวัดระหว่าง ปี พ.ศ.2381-2469 โดยเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวัดนวล นรดิศ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาถึงปัจจุบัน

ชาติภูมิเป็นชาวบางบำหรุ ธนบุรี เกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2381 ตรงกับแรม 8 ค่ำ เดือน 8 ปีจอนักษัตร เคยฝากตัวเป็นทนายหรือผู้รับใช้อยู่กับ พระยาสุริยศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) แล้วมาอุปสมบทที่วัดประยุรวงศาวาส มี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) เจ้าอาวาสรูปที่ 3 เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเคยศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักอาจารย์อ่อน และเป็นศิษย์ของพระอาจารย์แก้ว ด้วย ต่อมาท่านได้อาพาธ จึงลาสิกขาไปรักษาตัวแล้ว กลับมาอุปสมบทใหม่ มี พระธรรมภาณ พิลาศ (ผ่อง) เจ้าอาวาสรูปที่ 5 เป็นพระอุปัชฌาย์

ในช่วงอุปสมบทครั้งแรก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูใบฎีกา และเลื่อนเป็น “พระครูสังฆสิทธิกร” ฐานานุกรมใน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) หลังจากที่ได้กลับมาอุปสมบทเป็นครั้งที่ 2 ท่านได้เป็นผู้ดูแลโรงเรียนหนังสือไทย และโรงเรียนบาลีที่ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ สร้างขึ้น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ จึงกราบบังคมทูล ขอให้ดำรงอยู่ ในสมณศักดิ์ที่พระครูสังฆสิทธิกรตามเดิม เมื่อปีระกา พ.ศ.2428

ในปีขาล พ.ศ.2432 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูสังฆวิสุทธิคุณ”

แล้วได้ย้ายจากวัดประยุรวงศาวาสไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนวลนรดิศ ซึ่ง ท่านผู้หญิงนวล (เจ้าคุณพระราชพันธุ์) และ ท่านดิศ บุนนาค (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดนวลนรดิศ” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านผู้หญิงนวลและท่านดิศ เมื่อพ.ศ.2436 ได้ย้ายกลับมาเป็น เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระสาสนานุรักษ์” เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2436

เมื่อพ.ศ.2439 ในช่วงที่ พระสาสนานุรักษ์ (ทิม) เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสอยู่นั้น กรรมการผู้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกของ ท่านผู้หญิงพรรณ์ คือ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ สร้างโรงเรียน 2 หลัง วางซุ้มประตูวัดไว้ระหว่างกลางสำหรับเชื่อมโรงเรียนทั้งสองหลังเข้าด้วยกัน โดยตั้งอยู่ริมกำแพง หน้าวัดด้านแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ชื่อว่า “พรรณาคาร ร.ศ.115”

พร้อมกันนั้นได้สร้างเมรุด้านหน้าภูเขาไว้เป็นที่เผาศพท่านผู้หญิงพรรณ์ และอุทิศไว้เป็น ที่เผาศพสำหรับประชาชนทั่วไป เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีสร้างพระเจดีย์หลังพระอุโบสถองค์หนึ่ง สูง 3 วาเศษ แล้วสร้างรูปพระอาจารย์แก้ว (ซึ่งเรียกกันว่าท่านขรัวแก้ว) ผู้เป็นอาจารย์ 3 ประดิษฐานไว้ในนั้น

พระสาสนานุรักษ์ เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดประยุรวงศาวาสได้ไม่เต็มที่นัก เพราะต้องเดินทางไปดูแลวัดนวลนรดิศซึ่งว่างเจ้าอาวาสอีกด้วย ในช่วงที่ไปพำนักอยู่ที่วัดนวลนรดิศนั้น ท่านได้มอบหมายให้ พระครูสาราณียคุณ (บุญ) เป็นผู้ปกครองดูแลวัดประยุรวงศาวาสแทน

เมื่อพระธรรมเจดีย์ (แก้ว) ได้ย้ายจากวัดชัยพฤกษมาลา ตลิ่งชัน มาเป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสในปี พ.ศ.2443 พระสาสนานุรักษ์ (ทิม) จึงพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส และไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนวลนรดิศ เพียงตำแหน่งเดียว ตราบจนถึงกาลมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2469 ที่วัดนวลนรดิศ สิริอายุ 88 ปี

ต่อมาในปี พ.ศ.2473 ได้มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงที่วัดนวลนรดิศ พร้อมกับจัดสร้างเหรียญที่ระลึก เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง ซึ่งกล่าวกันว่า เหรียญนี้ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี สหธรรมิกของ หลวงปู่ทิม ซึ่งย้ายมาจากวัดประยุรวงศาวาส พร้อมกัน และมาจำพรรษาอยู่ที่วัดนวลนรดิศหลายปี ปลุกเสกร่วมกับ หลวงพ่อแช่ม ธัมมานันโท (อดีตเจ้าอาวาสวัดนวลฯ รูปต่อมา) ซึ่งเหรียญนี้สร้างจำนวนน้อย จึงหายาก และมีค่านิยมสูง

สำหรับอัฐิของหลวงปู่ทิมได้บรรจุไว้ ณ พระสถูปเจดีย์ หลังพระวิหาร โดยปัจจุบันได้มีการสร้างศาลาจัตุรมุขประดิษฐานรูปหล่อของหลวงปู่ทิม และหลวงพ่อแช่ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน