วัดไผ่ล้อม สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านมีความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา ได้เกณฑ์ชาวมอญ มาบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ ชาวมอญเหล่านี้พักอาศัยที่ป่าไผ่ ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์

กาลต่อมาดงไผ่ขึ้นหนาทึบ เป็นที่สงบร่มเย็น พระภิกษุผู้แสวงหาธรรมมาพบ จึงปักกลดลดบริขารลง บำเพ็ญสมณธรรม แล้วก็จากไป เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ชาวบ้านละแวกนั้นจึงได้อาราธนาพระภิกษุจากวัดพระปฐมเจดีย์ มาอยู่จำพรรษา ปกครองสำนักสงฆ์แห่งนี้ จึงสันนิษฐานกันว่า ชาวรามัญน่าจะเป็นผู้สร้างวัดไผ่ล้อมขึ้น

วัดไผ่ล้อมร้างเจ้าอาวาสอยู่นาน ทางการคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้ง พระอาจารย์พูลหรือหลวงพ่อพูล (พระมงคลสิทธิการ) ขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดพระงาม อุปสมบทได้ 10 พรรษา ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม เมื่อ พ.ศ. 2490

ตามประวัติ หลวงพ่อพูล ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2455 วัยหนุ่ม เข้ารับราชการเป็นทหารม้ารักษาพระองค์ เมื่อปีพ.ศ.2477 ประจำการกองบัญชาการเดิม ที่สะพานมัฆวาฬรังสรรค์ กรุงเทพมหานคร ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และได้ปลดประจำการ ยศเป็นนายสิบตรี

หลังจากนั้นเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2480 ณ พัทธสีมา วัดพระงาม มีพระครูอุตรการบดี หรือหลวงปู่สุข เจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา อัตตะรักโข ซึ่งมีความหมายว่า ผู้รักษาตน

ท่านจำวัดอยู่ที่วัดพระงาม ศึกษาเล่าเรียนจบนักธรรมตรี ในปี พ.ศ.2482 จวบจนปีพ.ศ.2486 วัดไผ่ล้อมขาดเจ้าอาวาสปกครอง ชาวบ้านจึงนำเรียนหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมได้ทราบ หลวงพ่อเงิน ท่านจึงบอกชาวบ้านเหล่านั้นไปว่า มีพระสงฆ์รูปหนึ่ง วัตรปฏิบัติหมดจดงดงาม จำพรรษาอยู่ที่วัดพระงาม นามว่า พระพูล อัตตะรักโข ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันไป อาราธนาพระพูล ให้ย้ายมาจำพรรษาประจำที่วัดไผ่ล้อม

โดยเข้าดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส บริหารรังสรรค์ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้วัดไผ่ล้อมอย่างมากมาย และละสังขาร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 คณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์อัญเชิญสังขารหลวงพ่อ ตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดไผ่ล้อม ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ประทานน้ำหลวงสรงศพ และหีบทองทิพย์ พิธีธรรมทางพระพุทธศาสนา ถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ โดยพระเดชพระคุณ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน ทายาทศิษย์เอก ถวายความกตัญญูครบ 100 วัน

และแล้วเหตุปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เมื่อเปิดโลงหีบทอง ภาพที่ศิษยานุศิษย์ได้ประจักษ์ต่อสายตา คือร่างของหลวงพ่อพูล อยู่ในสภาพสมบูรณ์ สังขารไม่เน่าเปื่อย ใบหน้า ผิวพรรณ ทุกส่วนของร่างกาย เหมือนคนปกติที่มีชีวิต สร้างความอัศจรรย์ใจ แก่ศิษย์ทุกคนในห้วงเวลานั้น

พระเดชพระคุณหลวงพี่น้ำฝน จึงอัญเชิญสังขารของท่านบรรจุไว้ในโลงแก้ว และได้การดำเนินงานสร้างวิหารหลวงพ่อพูล เพื่อน้อมถวายบูชาคุณ ประกาศคุณงามความดี ถวายเป็นเครื่องบูชาสักการะพระคุณ ถวายความกตัญญูกตเวทีแด่ท่าน

วิหารหลวงพ่อพูล ออกแบบโดย นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ระดับชำนาญการ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร โดยมีพุทธศิลป์ลักษณะแบบวิหารเป็นสถาปัตยกรรมไทย ยอดทรงมณฑป หลังคาจัตุรมุข ซ้อน 2 ชั้น มีคอสอง แกะสลักลวดลายลงรักปิดทอง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ตรงเชิงชายของหลังคาและชายคา มีปีกนกทุกด้าน ประดับด้วยกระจัง ลงรักปิดทอง

บริเวณหน้าบัน ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต เชิญพระปรมาภิไธยย่อ วปรของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และ อักษรพระนามย่อ พภของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา อักษรพระนามย่อ สรของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ อักษรพระนามย่อ ทปของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ประดิษฐานเพื่อความเป็นสิริมงคล

ภายในวิหารจัดทำเป็น ซุ้มวิมาน แกะสลักลวดลายไทยลงรักปิดทอง ประดับกระจกสีทอง สำหรับประดิษฐาน พระประธาน พระพุทธเมตตาประทานพร เนื้อโลหะปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 7 เมตร และรูปหล่อหลวงพ่อพูล อุ้มโลงแก้ว(ภายในประดิษฐานสังขารหลวงพ่อพูล) นั่งหนุมาน เนื้อขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส ขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร และเพดานของวิหาร ฉลุลวดลายไทย ปิดทอง และมีดาวเพดาน แกะสลักไม้ ลงรักปิดทอง

วัดไผ่ล้อม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์วิหารหลวงพ่อพูล เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2554

จวบจนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นประธานพิธีเททองหล่อพระพุทธเมตตาประทานพร ส่วนพระเพลา เพื่อประดิษฐานในวิหารหลวงพ่อพูล

และในวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2560 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นประธานประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธเมตตาประทานพร ส่วนพระอุระและพระเศียร เสด็จออกจากอาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เวลา 15.29 น. เสด็จถึงวัดไผ่ล้อม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม พระเถรานุเถระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมอธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม และประชาชนพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์เฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก

เสด็จเข้าสู่พลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ประทับพระเก้าอี้ พระเถรานุเถระ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูลถวายสักการะ เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบ

นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กราบทูลถวายรายงานวัตถุประสงค์การเททองหล่อพระพุทธเมตตาประทานพร เพื่อประดิษฐานวิหารหลวงพ่อพูล พร้อมทั้งกราบทูลเชิญเสด็จทรงประกอบพิธี เททองหล่อพระพุทธเมตตาประทานพร ส่วนพระอุระ และพระเศียรเด็จออกจากพลับพลาพิธี ทรงรับแผ่นทอง นาก เงิน จากนายไพรัช สังวริบุตร ศิลปินแห่งชาติ แล้วทรงหย่อนแผ่นทอง นาก เงิน ลงในช้อนที่เจ้าพนักงานถวาย ทรงรับช้อนจากเจ้าพนักงานพระราชพิธี ทรงเทแผ่นทอง นาก เงิน ลงในเบ้า แล้วประทานช้อนคืนให้เจ้าพนักงาน

ทรงถือสายสูตรเททองหล่อพระพุทธเมตตาประทานพร (เจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัยประโคมสังข์แตร) ทรงเททองหล่อพระพุทธเมตตาประทานพร พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เสด็จกลับประทับพระเก้าอี้ ประธานฝ่ายฆราวาส และผู้มีเกียรติ ถวายเครื่องไทยธรรม แด่พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา มีรายนามดังนี้ พระธรรมพุทธิมงคล ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลย์ พระเทพสาครมุนี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร วัดเจษฎาราม พระเทพมหาเจติยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม รองเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ฯ พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี วัดกวิศราราม ราชวรวิหาร พระเทพศาสนาภิบาล รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง พระเทพปริยัติโมลีรองเจ้าคณะภาค 9 เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม พระราชวัลภาจารย์ เจ้าคณะอำเภอเมืองราชบุรี เจ้าอาวาสวัดหนองหอย พระอารามหลวงพระราชวิสุทธิเมธี เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง พระวินัยเวที เจ้าคณะอำเภอบางไทร(ธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม พระศากยปุตติยวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ พระครูพิศาลสาธุวัฒน์เจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม เจ้าอาวาสวัดพะเนียงแตก พระสงฆ์ทั้งนั้นอนุโมทนา ทรงกรวดน้ำ

นางกัญฐณา หินเมืองเก่า ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม กราบทูลฯ ขอประทานอนุญาตให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สมทบทุน ในการก่อสร้างวิหารหลวงพ่อพูลเข้ารับประทานของที่ระลึก จำนวน 130 ราย ประทานของที่ระลึกตามลำดับ

เสด็จไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังศาลาการเปรียญวัดไผ่ล้อม ทรงจุดเครื่องบูชาทองน้อย เคารพหน้าหีบสรีระสังขาร พระมงคลสิทธิการ (พูล อตฺตรกฺโข) พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ทูลถวายไทยธรรม เสด็จไปยังวิหารหลวงพ่อพูล ทอดพระเนตรพระพุทธเมตตาประทานพร ส่วนพระเพลา เสด็จออกจากวิหารหลวงพ่อพูล ไปยังรถยนต์พระประเทียบ ประทับรถยนต์พระประเทียบ เสด็จออกจากวัดไผ่ล้อม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม กลับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

กล่าวสำหรับประวัติพระพุทธเมตตาประทานพร พุทธลักษณะ แสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวายกขึ้น และหันฝ่าพระหัตถ์ออก แสดงนัยยะการให้พร และการอนุญาต ในการกราบไหว้ขอพร

พระพุทธเมตตาองค์นี้ ด้วยความที่ไม่ว่าใครจะทุกข์ร้อนมาจากไหน แต่เมื่อได้เห็นพระพักตร์อันงดงามต่างลืมความทุกข์ คลายความร้อนอกร้อนใจไปสิ้นในทันทีที่กราบไหว้บูชา ทำให้จิตใจสะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น หรือหากพุทธศาสนิกชนที่มาทำบุญ มีเรื่องทุกข์ร้อน ไม่ว่าด้วยเหตุอันใด เมื่อได้มากราบไหว้ขอพร คลายทุกข์ร้อนที่บั่นทอนมอดมลายหายพลัน

แต่เดิมพระพุทธเมตตา คือสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระประธานในพระมหาเจดีย์พุทธคยา ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย นับเป็นพระพุทธรูป ศักดิ์สิทธิ์ แกะสลักจากหินสีดำ ปางมารวิชัย ในสมัยราชวงศ์ปาละ อายุราวๆ 1,400 ปี เป็นที่นับถือของชาวพุทธทั่วโลก

พิธีเททองหล่อพระพุทธเมตตาประทานพร ดำเนินงานเททองมาถึงส่วนพระอุระ และพระเศียร ในการนี้ พระเดชพระคุณ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ได้ดำเนินการสร้าง เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารหลวงพ่อพูลสืบต่อไป

และสำหรับประวัติของ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จักในนาม หลวงพี่น้ำฝน นั้น ท่านเป็นทายาทศิษย์เอก หลวงพ่อพูล

หลวงพี่น้ำฝน มีผลงานมากมาย ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมไปถึงความสามารถในการสร้างวัตถุมงคล และการอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคล ที่ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์ เฉกเช่น หลวงพ่อพูล

หลวงพี่น้ำฝน เกิดวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2515บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2536 ณ พัทธสีมา วัดไผ่ล้อม ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยมีพระเดชพระคุณ พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ หลวงพ่อผูก วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า กิตติจิตโตแปลว่า ผู้มีจิตที่น่าสรรเสริญ

ในครานั้น หลวงพี่น้ำฝนตั้งใจบวชให้ยายเพียง 15วันเท่านั้น แต่เหตุการณ์ผันแปร วิถีชีวิตเปลี่ยน ความปรารถนาเดิมที่กำหนดไว้ก็เปลี่ยนไป เมื่อได้เห็นวัตรปฏิบัติหลวงพ่อพูล เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อมในขณะนั้น ซึ่งท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่ชาวบ้านต่างให้ความเคารพศรัทธา จึงเกิดความปิติในใจ รู้สึกถึงบุญญาบารมีอันแผ่ไพศาล และเป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้มาใกล้ชิดหลวงพ่อพูล จึงฝากตัวเป็นศิษย์ ขอร่วมใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ดูแลสืบสานพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน