วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

อาจเป็นเพราะหนังสือ รำลึกวันวาน ซึ่งด้านหลักเป็นการเขียนของ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ เมื่อปี พ.ศ.2541

ภายหลังการเขียนเมื่อปลายปี พ.ศ.2492 ของ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)

ภายหลังการเรียบเรียงจนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนตุลาคม 2512 ของ พระอาจารย์วิริยังค์ และของ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เมื่อปีพ.ศ.2514

รำลึกวันวาน จึงดำเนินไปอย่างค่อนข้างมีกำหนดเวลาบางห้วง บางตอน ค่อนข้างแน่ชัด

ขณะเดียวกันกับการปฏิบัติ ปรารภความเพียร ณ ถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ก็มีการกำหนดไว้ภายใต้หัวข้อเรื่องอันค่อนข้างมั่นใจ

ว่า “ในพรรษาที่รู้แจ้ง”

เมื่อปี พ.ศ.2455 ตรงกับพรรษาที่ 22 น่าสนใจก็ที่สอดรับกับความมั่นใจของ พระอาจารย์วิริยังค์

หมายเหตุของบรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ รำลึกวันวาน มีหมายเหตุว่า

“เรื่องสถานที่บรรลุธรรมของท่านพระอาจารย์มั่นนี้หลวงตาทองคำเล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นไม่เคยระบุตรงๆ ว่าเป็นสถานที่ใดๆ แต่ท่านจะกล่าวถึงการปฏิบัติโดยเทียบเคียงกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยเทศนาไว้”

มีความแตกต่างในทางความเข้าใจอย่างแน่นอนระหว่างสำนวนเขียนแต่ละสำนวน

สํานวนแรกโดย พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ให้ความสำคัญกับสมาธินิมิต ณ วัดเลียบ ในพรรษาที่ 3 ค่อนข้างมาก

อธิบายอย่างค่อนข้างละเอียด กระทั่งกลายเป็น “ต้นแบบ”

ขณะเดียวกัน ในตอนว่าด้วยปฏิปทาได้กล่าวว่า “ลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพฯ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุม หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับ เจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจันโท จันทร์) 3 พรรษาแล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงโต ลพบุรี

“จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา”

แต่มิได้ให้รายละเอียด จึงเป็นเรื่องที่สำนวนเขียนภายหลังไม่ว่า สำนวน พระอาจารย์วิริยังค์ สำนวน พระมหาบัว ญาณสัมปันโน สำนวน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ จะให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษ

เป็นความสนใจในการให้ความหมาย ให้ความสำคัญอันแตกต่างกันออกไป

แม้ว่า พระอาจารย์วิริยังค์ ก็ดี พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ก็ดี พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ก็ดี ล้วนมีรากฐานการเขียนมาจากแหล่งเดียวกัน คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

และดำเนินไปตามกระบวนการ “ท่านเล่าว่า” เหมือนกันทั้งสิ้น

ความเหมือนกันของสำนวนเขียนทั้ง 3 ในภายหลัง คือ ล้วนยอมรับต่อการปฏิบัติที่ถ้ำสาริกา นครนายก ด้วยกัน แต่น้ำหนักจะแตกต่างออกไป

กล่าวสำหรับ พระอาจารย์วิริยังค์

“ท่านพูดกับข้าพเจ้าว่า นี้เป็นการที่ได้หนทางเป็นครั้งแรก ในใจของเราให้หายสงสัยว่าจะเป็นอะไรต่อไป แน่ชัดในใจโดยปราศจากการกังขา”

กล่าวสำหรับ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

กำลังรำพึงธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงพระเมตตาประทานไว้แก่หมู่ชน รู้สึกว่าเป็นธรรมที่สุขุมลุ่มลึกมากยากที่จะมีผู้สามารถปฏิบัติและไตร่ตรองให้เห็นจริงตามได้

ท่านเกิดความภูมิใจและอัศจรรย์ในตัวท่านเองขึ้นมาที่มีวาสนาได้ปฏิบัติและรู้เห็นความอัศจรรย์หลายอย่างจากธรรม แม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิที่ใฝ่ฝันมานานก็ตามแต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในขั้นพอกินพอใช้ไม่ขัดสนจนมุมในความสุขที่เป็นอยู่และจะเป็นไป

ซึ่งตัวเองก็แน่ใจว่าจะถึงแดนแห่งความสมหวังในวันหนึ่งแน่นอนถ้าไม่ตายเสียในระยะกาลที่ควรจะเป็นนี้”

กล่าวสำหรับ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ

“พิจารณากำหนดอยู่ในร่างกายไม่ถอย จิตก็รวมใหญ่ ปรากฏว่าร่างนี้พังไปเลย เกิดไฟเผาไหม้เป็นเถ้าถ่านจมหายไปในแผ่นดิน เวทนาและความวิตกกังวลทั้งหลายหายหมดสิ้น จิตใจเบิกบานแจ่มใสด้วยปีติปราโมทย์ในธรรม”

กระนั้น ความเกี่ยวเนื่องอย่างสำคัญคือความเกี่ยวเนื่องไปยังวัดเขาพระงาม ถ้ำสิงโต ลพบุรี

เป็นความเกี่ยวเนื่องที่ สำนวน พระอาจารย์วิริยังค์ กับ สำนวน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ให้ความหมายค่อนข้างสูง

ขณะที่ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ให้ความหมายไปยังจังหวัดเชียงใหม่เป็นขั้นที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน