“พระนิพันธรรมาจารย์” หรือ “หลวงพ่อคล้าย จันทโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดพนมรอก ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นคร สวรรค์ และอดีตเจ้าคณะอำเภอท่าตะโก พระเกจิชื่อดังแห่งปากน้ำโพ

เกิดในสกุล อนุวัตร เมื่อวันอังคารที่ 16 ส.ค.2420 ที่บ้านพนมรอก หมู่ที่ 1 ต.พนมรอก อ.พนมรอก (สมัยนั้นอำเภอตั้งอยู่ที่บ้านพนมรอก จ.นครสวรรค์)

เมื่อปี พ.ศ.2440 อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดพนมรอก โดยมีพระอาจารย์ภู่ วัดทับกฤช ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เงิน วัดพระปรางค์เหลือง ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เทศ วัดสระทะเล อ.พยุหะคีรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

อยู่จำพรรษาวัดพนมรอก ศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลีและเรียนพระปริยัติธรรมกับพระปลัดห่วงพ.ศ.2441 จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรมและภาษาบาลีที่วัดทุ่งแก้ว จ.อุทัยธานี

พ.ศ.2442 ย้ายไปอยู่จำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดหนองโพ อ.พยุหะคีรี (ในสมัยนั้น)

พ.ศ.2443 จำพรรษาและศึกษาบาลีที่วัดจอมคีรีนาคพรต (วัดเขา) อ.เมือง จ.นครสวรรค์

พ.ศ.2444 กลับมาจำพรรษาและได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพนมรอก ตลอดมารวม 46 พรรษา จนถึง พ.ศ.2490 จึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดสามัคยาราม อ.ท่าตะโก พร้อมทั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอท่าตะโก จนถึงวันมรณภาพ

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2449 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอพนมรอกรูปแรก (ปัจจุบันเป็นอำเภอท่าตะโก) และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพนมรอก พ.ศ.2456 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2490 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามัคยาราม อ.ท่าตะโก

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2467 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูนิพันธ์ธรรมคุต พ.ศ.2491 เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม พ.ศ.2495 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระนิพันธ์ ธรรมาจารย์

หลวงพ่อคล้าย วัดพนมรอก พระเถระเก่าแก่รูปหนึ่งของเมืองนครสวรรค์ ที่มีผู้รู้จักกันไม่น้อย

พระเถระศิษย์ที่หลวงพ่อคล้ายให้การอุปสมบทล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียง เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในรุ่นต่อมา อาทิ ท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธินายก (ห้อง) อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่ออ๋อย วัดหนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ หลวงพ่อสวาสดิ์ วัดห้วยร่วม อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ หลวงพ่อฮวด วัดหัวถนนใต้ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เป็นต้น

หลวงพ่อคล้ายเป็นพระผู้มีอุปนิสัยพูดน้อย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ได้บำเพ็ญสมณธรรม ปฏิบัติศาสนกิจ อบรมสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย และสำเหนียกในไตรสิกขา อันเป็นแนวทางแห่งอริยมรรค

ผลงานด้านการพัฒนา หลวงปู่จำพรรษาอยู่วัดใดจะพัฒนาวัดนั้นอย่างเต็มความสามารถ สร้างกุฏิ ศาลา หอฉัน และอีกมากมาย ด้วยหัวใจแห่งความเมตตาและใจของพระนักพัฒนา วัดที่หลวงพ่ออยู่จำพรรษาจึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ไม่ว่าใกล้หรือไกล เพราะความมุ่งมั่นในการพัฒนา

ในชีวิตของท่านสร้างมงคลวัตถุไว้หลายรุ่นหลายแบบ ทั้งที่สร้างเองและมีคณะศิษย์มาขอสร้าง โดยเฉพาะเหรียญทวิภาคี (คู่บารมีหลวงพ่อเดิม) ปี 2483 เป็นเหรียญเนื้อทองแดง รูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อคล้ายนั่งคู่กับหลวงพ่อเดิม

ช่วงบั้นปลายชีวิต สังขารเริ่มโรย หลวงพ่อคล้ายเกิดอาพาธบ่อยครั้ง สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง หลังตรากตรำรับใช้พระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน

สุดท้ายถึงแก่มรณภาพด้วยโรคตับ ณ วัดสามัคยาราม อ.ท่าตะโก เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2500 เวลา 20.00 น. สิริอายุ 80 ปี พรรษา 60

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน