คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

“พระใช้ในอดีต” เป็นคำที่ใช้กันในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่อง ใช้เรียกพระเครื่องที่ผ่านการบูชาติดตัวในรูปแบบต่างๆ มาแล้วในอดีต ทำให้องค์พระมีการแปรสภาพหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะไปจากเดิม

เช่น เมื่อในราว 50-60 ปีมาแล้ว สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนจะแตกต่างจากในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ชายไทย ลองนึกถึงภาพชายไทยสมัยที่มีผ้าขาวม้าพาดไหล่และไม่ใส่เสื้อ และในสมัยนั้นก็จะไม่นิยมคล้องสร้อยคอถึงมีสร้อยก็จะเก็บไว้ แต่ประเพณีวัฒนธรรมในการที่จะบูชาพระติดตัวนั้น จะใช้วิธีอาราธนาพระแล้วอมพระไว้ในปากจึงออกเดินทางโดยเท้าหรือไปกับเกวียน

ต่อมาวิวัฒนาการของคนไทยเริ่มใส่เสื้อ แต่ก็ยังคงบูชาพระเครื่องติดตัวโดยการอมไว้ในปากเหมือนเดิม พระเครื่องเล็กๆ บางองค์ เช่น พระพิจิตรเม็ดข้าวเม่าจะอมไม่ค่อยถนัด จึงมักจะผ่าฝังไว้บนต้นแขน เรียกว่าบูชาติดตัวจริงๆ เลยครับ

ยุคต่อมาเริ่มมีการห่อพระกับผ้ายันต์บูชาไว้ในกระเป๋าเสื้อ ลักษณะขององค์พระที่ถูกเสียดสีจึงไม่เหมือนกับลักษณะขององค์พระที่ถูกอมไว้ในปาก จนกระทั่งมายุคหลังๆ ถึงปัจจุบันจึงเริ่มการบูชาพระติดตัวโดยการเลี่ยมพระและแขวนใส่สร้อยคอ ไม่ว่าจะเป็นสร้อย ทองคำ สร้อยเงิน สร้อยเหล็ก หรือแม้กระทั่งสร้อยเชือกร่ม

ดังนั้น พระเครื่องที่ได้ชื่อว่าเป็น “พระใช้ในอดีต” จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่สมัยนิยม อาทิ การบูชาติดตัวด้วยการอมพระไว้ในปาก องค์พระก็จะมีคราบน้ำหมากเพราะผู้คนสมัยก่อนนิยมเคี้ยวหมากและอมหมากตลอดเวลา

แต่ถ้าเป็นสมัยที่บูชาติดตัวด้วยการห่อผ้ายันต์ องค์พระก็จะสึกกร่อนจากการเสียดสีและมีสีของผ้ายันต์ติดอยู่ด้วย เป็นต้น

พระเครื่องบางองค์จะสังเกตเห็นว่ามีคราบน้ำหมากติดอยู่ทั่วองค์พระ แต่ต้องพิจารณารายละเอียดของคราบน้ำหมากให้ดี น้ำหมากที่ผสมน้ำลายจะค่อยๆ ซึมเข้าไปในเนื้อมวลสารขององค์พระ สลับกับผิวขององค์พระที่ถูกกระทบและเสียดสีอยู่ในปาก จนกระทั่งส่วนบนของรายละเอียดจะดูสดใสกว่าส่วนลึกขององค์พระ และส่วนที่เป็นรูพรุนขององค์พระจะมีคราบน้ำหมากติดเข้มกว่าจนดูสีน้ำหมากลึกเป็น 3 ชั้น 3 ระดับ แม้แต่ส่วนที่องค์พระถูกหักออกก็จะมีความสึกหรอและมีคราบน้ำหมากยึดแน่นเป็น 3 ระดับเช่นกัน

อีกจุดที่ควรพิจารณาก็คือ พระพักตร์ขององค์พระซึ่งเป็นส่วนที่สูงสุด และมีความสึกหรอมากที่สุด แต่ก็ยังเกิดจุดด่างของคราบน้ำหมากที่จับแน่นเป็นจุดๆ อย่างธรรมชาติ เพราะถ้าเป็นเจตนาที่จะขัดให้พระพักตร์สึกเพื่อดูเด่นชัดแล้ว จุดด่างของคราบน้ำหมากบนพระพักตร์ในลักษณะธรรมชาติเช่นนี้จะไม่สามารถทำได้

ยิ่งพลิกดูองค์พระด้านหลัง สภาพของน้ำหมากที่ยึดแน่นบนผิวพระจนดูเสมือนว่าเป็นสีน้ำหมากที่ผุดขึ้นมาจากเนื้อในขององค์พระ ความยึดแน่นของคราบน้ำหมากผสมกับคราบน้ำลาย จนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ล้างน้ำก็ไม่ออก และจะติดแน่นตลอดไป

นอกจากนี้ พระเครื่องพระบูชาบางองค์มิได้มีสภาพเหมือนภายนอกที่เราพบเห็น ณ เวลานั้น หากแต่ผ่านการ “ศัลยกรรม” เพื่อซ่อมแซมรอยชำรุดขององค์พระ หรือการเสริมเติมแต่งให้องค์พระนั้นดูงามขึ้น

การ “ซ่อมพระ” เป็นความจำเป็นประการหนึ่ง เพราะพระเครื่องมากมายหลายประเภทมีอายุขัยยาวนาน บางองค์จึงอยู่ในสภาพพร้อมซ่อมเพราะผ่านการใช้มาอย่างโชกโชน

แต่ก็มีพระเครื่องจำนวนมากที่สภาพสมบูรณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ อาทิ เพิ่งค้นพบหรือแตกกรุได้ไม่นาน แต่บางองค์ก็มีสภาพแตก หัก บิ่น จากในกรุ

นอกจากนี้ ยังมีพระที่ได้รับการเก็บรักษาซึ่งเป็นกระบวน การของการอนุรักษ์พระเครื่องพระบูชาที่ถูกวิธี รวมไปถึงพระบางองค์ไม่ผ่านการใช้ เพราะวางอยู่บนหิ้งเฉยๆ ไม่มีใครไปสัมผัสจับต้อง จึงปรากฏพระจำนวนมากที่ยังสมบูรณ์เหมือนเพิ่งออกจากแม่พิมพ์ยังไงยังงั้น

กรรมวิธีการซ่อมพระ เป็นกระบวนการที่มหัศจรรย์พันลึกมาก ขามาก็หัก 7-8 เสี่ยง ขากลับ โอ้โฮ ยิ่งกว่านางงามจักรวาลอีก

สมัยก่อนเมื่อมีพระหัก พระแตก พระบิ่นก็จะเอาไปถวายวัด

ต่อมาเมื่อพระเครื่องเริ่มหายากขึ้นและมีคำร่ำลือเรื่องพุทธคุณ จนถึงการแลกเปลี่ยนเช่าหา การซ่อมพระจึงเป็นความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงมิได้ของการทำให้องค์พระอยู่ในสภาพสมบูรณ์งดงามที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก่อนจุดประสงค์หลัก ก็คงซ่อมเพื่อเป็น “พุทธบูชา” เช่นการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปหรือปลียอดเจดีย์สำคัญๆ

เช่นเดียวกันในการซ่อมพระเครื่องแรกๆ ก็เพื่อต่อเติมให้องค์พระงดงามสมบูรณ์ขึ้นจนฝีมือพัฒนาไปถึงขั้นเอาเศษพระหลายๆ ชิ้น มาซ่อมเป็นองค์เดียวได้สนิทแถมลงรักปิดทองทับลงไป ราคาก็พุ่งพรวดๆ ขึ้น

มีคำเรียกพระเครื่องที่ผ่านการซ่อมหลายอย่าง เช่น หัวสิบเอ็ดแผลตัวต่างหาก หมายถึง พระองค์นี้ซ่อมกันชนิดเยินทั้งองค์ หรือเช่าองค์เดียวได้พระตั้งสององค์ หมายถึง ท่อนบนกับท่อนล่างไม่ได้เป็นองค์เดียวกัน อย่างนางพญาพิษณุโลกก็มักใช้เนื้อพระขุนแผนบ้านกร่างมาร่วมสังฆกรรม พระซุ้มกอ-พระเม็ดขนุนก็จะใช้พระสกุลกำแพงที่ ราคารองๆ มาร่วมแจมด้วย

แต่เซียนพระเวลาให้เช่านั้นเขาจะบอกว่า หักตรงไหนซ่อมตรงไหน ราคาก็ว่ากันไป

การตรวจเช็กว่า พระซ่อม พระหัก พระอุด พระปะ หรือหยอดอะไรไว้ตรงไหนบ้าง นับเป็นวิชาขั้นสุดยอด และมีหลายวิธี เช่น “ดูพระย้อนแสง” ถ้าเป็นแสงแดดจะแจ่มแจ๋วมาก โดยกลับเอาองค์พระลง ครูบาอาจารย์ท่านบอกไว้ว่า เวลาซ่อมช่างเขาจะตั้งองค์พระตรงๆ

ดังนั้น ถ้ากลับองค์พระลงจะเห็นเกรนสีซึ่งผิดปกติ ทำให้รู้ว่าผ่านการซ่อมหรือไม่ หรือ “แช่น้ำ” มีคนเคยเอาพระเม็ดขนุนที่เถียงกันว่าซ่อมหรือไม่ซ่อมหย่อนลงในแก้วน้ำ ไม่นานหรอกครับ 2-3 ช.ม. ร่องรอยการอุดการปะขึ้นเป็นริ้ว ยุติการเถียงกันได้

แต่ที่ชัวร์สุด คือ “การเอกซเรย์” โดยใช้เครื่องเอกซเรย์ฟัน ฟิล์มก็จะเล็กๆ พอดีขนาดพระเครื่อง ก็จะสามารถเห็นทะลุทะลวงหมดไม่ว่าซ่อมว่าหักตรงไหน เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบ เดี๋ยวนี้การเช่าหารายใหญ่ๆ ที่เป็นพระหลักมักจะต้องผ่านการเอกซเรย์ เพื่อความสบายใจครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน