“หลวงพ่อมา จัตตาลโย” พระเกจิคณาจารย์เรืองนามแห่งวัดหาดสูง ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

เป็นศิษย์พุทธาคมของสุดยอดพระเกจิ อาจารย์แห่งภาคตะวันออกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อคง วัดซำป่างาม, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงพ่อแดง วัดใหญ่อินทาราม, หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์, หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นต้น

เกิดที่หมู่บ้านหนองกระทุ่ม ต.หนองหงษ์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี เมื่อวันอังคารที่ 29 ก.ค.2422

เมื่ออายุ 12 ปี บิดา-มารดานำไปฝากเรียนหนังสือกับท่านสมุห์หล่วน เจ้าอาวาสวัดโคกหัวเข่า พออ่านออกเขียนได้จึงรับการบรรพชา ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย

กระทั่งอายุ 20 ปี ท่านเกณฑ์ทหารจับได้ใบแดงจึงต้องลาสิกขาออกมารับใช้ประเทศชาติ โดยขณะรับราชการ รู้จักรักใคร่ชอบพอกับ ขุนกล้ากลางสมร ไม่ว่าจะไปรบที่ไหนก็ไปด้วยกันเสมอ นอกจากนี้ ยังได้ไปศึกษาวิทยาคมกับ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า รับราชการจนติดยศจ่าโท จึงลาออกมาช่วยครอบครัว

พ.ศ.2447 อุปสมบท ณ วัดหนองตำลึง เมื่อวันพุธที่ 14 ธ.ค. มี หลวงพ่อแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเพชร เป็นพระ กรรมวาจาจารย์, พระปลัดจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ 25 รูปนั่งหัตถบาต ได้รับฉายา จัตตาลโย แปลว่า ผู้มีอาลัยอันสละแล้ว

หลังจากนั้นได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ท่องบทสวดมนต์จนจบพระปาฏิโมกข์ ณ วัดหนองกะชะ ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดโยม ซึ่งที่วัดแห่งนี้ท่านได้ช่วยสร้างกุฏิสงฆ์และหอสวดมนต์ จนถึงพรรษาที่ 5 ได้พยายามเรียนตำรับตำราทางไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถาจากพระอาจารย์ต่างๆ เช่น หลวงพ่อแก้ว วัดหนองตำลึง ก่อนจะไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสี่จีน แขวงเหนือ กรุงเทพฯ และในช่วงนี้ได้ไปมาหาสู่พระราชกวี แห่งวัดเทพศิรินทร์ พร้อมกับชักชวนชาวบ้านแถบนั้นก่อสร้างสะพานข้ามคลองข้างวัด

ด้วยเหตุที่ท่านมีจิตใจในทางรักสงบ ชอบค้นคว้าวิชาความรู้ต่างๆ จากพระอาจารย์ทั้งหลาย จึงออกรุกขมูลธุดงควัตรไปยังสถานที่ต่างๆ โดยมุ่งหน้าขึ้นไปทางภาคตะวันออก และได้รับการถ่ายทอดวิชาจากพระเกจิอาจารย์เรืองอาคมหลายท่าน อาทิ หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงพ่อแดง วัดใหญ่อินทาราม, หลวงพ่อภู วัดต้นสน, หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เจ้าของพระปิดตาอันลือลั่น, หลวงพ่อโต วัดเนิน และหลวงพ่อเจียม วัดกำแพง

มุ่งสู่ จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าไปศึกษาพระคาถาอาคมกับหลวงพ่อคง วัด ซำป่างาม และได้พบปะแลกเปลี่ยนวิชากับหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก จนเป็นสหธรรมิกที่สนิทสนมกันมาก หลังจากนั้นได้มุ่งหน้าสู่จังหวัดปราจีน บุรี โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดวังบัวทอง (สบ้า)

ต่อมาชาวบ้านหาดสูงจึงเดินทางมานิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษาที่วัดหาดสูง เพื่อช่วยบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุที่หักพัง ซึ่งท่านก็รับนิมนต์และได้พัฒนาวัดหาดสูง จนเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว หลายวัดที่อยู่ละแวกใกล้เคียงต้องนิมนต์ท่านไปช่วยบูรณะ เช่น พ.ศ.2468 สร้างโบสถ์วัดหาดสูง และโบสถ์-กุฏิวัดวังหวาย พ.ศ.2471 สร้างโบสถ์วัดสระดู่ พ.ศ.2472 ช่วยสร้างศาลาการเปรียญวัดหนองโพลง

หลวงพ่อมาเป็นที่นับถือของคณาจารย์แห่งเมืองปราจีนบุรีหลายองค์ เช่น หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อดำ วัดศรีมงคล, หลวงพ่อพุก วัดพระยาทำ, หลวงพ่อบู่ วัดสระดู่, หลวงพ่อโชติ วัดชะเอม ฯลฯ

พ.ศ.2480 พล.อ.พระยาศรีสุรสงคราม (ถิ่น ท่าราบ) อาราธนาเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ซึ่งในงานนี้มีพระเกจิอาจารย์จากทั่วทุกาภาครวม 108 รูป โดยพระคณาจารย์รูปใดปลุกเสกในด้านไหน ก็จะตอกอักษรย่อไว้กับเหรียญ เช่น ล.หมายถึงหลวงพ่อเลียบ วัดเลา บางขุนเทียน ภ.หมายถึง หลวงพ่อภู วัดต้นสน จ.หมายถึงหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ป.หมายถึงหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และ ม.หมายถึงหลวงพ่อมา วัดหาดสูง

ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 มิ.ย.2484 สิริอายุ 63 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน