คติ-สัญญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

เจดีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าหรือที่เรารู้จักกันก็คือ พระพุทธรูป

พระพุทธรูปลักษณะหนึ่งที่มีรูปแบบที่เราเรียกกันว่าพระนอน ซึ่งมักจะสร้างกันอย่างใหญ่โต พระนอนนี้มีคติอยู่ 2 แบบ

แบบที่ 1 เรียกปางไสยาสน์

แบบที่ 2 เรียกปางปรินิพพาน

ปางไสยาสน์กับปางปรินิพพานนั้นมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย ข้อสังเกตก็คือ

ปางไสยาสน์นั้นมักจะสร้างอยู่ในอาคารใหญ่โต มีคติและความหมาย 2 รูปแบบ

ในรูปแบบที่ 1 มาจากพุทธประวัติว่าพระพุทธเจ้าเนรมิตกายให้ใหญ่โตเพื่อสั่งสอน อสุรินทราหู อสูรตนหนึ่งที่หลงผิดถึงความใหญ่โตของตนว่าแท้ที่จริง อสุรินทราหูนั้นในสายตาของพรหมประหนึ่งมดปลวกในสายตาของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อลดอัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความยิ่งใหญ่ เพราะยังมีสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า

ในรูปแบบที่ 2 เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเสนาสนะหรือกุฏิ หรือที่อยู่ของพระพุทธเจ้านั้นมีขนาดเล็กพอเพียงแต่การอาศัยเท่านั้น

ปางปรินิพพาน มีลักษณะพิเศษเฉพาะก็คือ ต้องสร้างกลางแจ้ง เนื่องจากขณะที่พระ พุทธเจ้ากำลังจะนิพพานนั้น พระองค์ประทับอยู่ระหว่างไม้สาละ หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ หนุนพระเศียรด้วยพระหัตถ์ข้างขวา (คือหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก)

เป็นคติที่จะแสดงให้เห็นว่าจะปรินิพพาน กล่าวคือผู้คนในอดีตนั้นนอนหันหัวไปทางทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งหมายถึงการจะตื่นขึ้นใหม่ในวันรุ่งขึ้น การหันพระเศียรไปทางเหนือและหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกของพระพุทธเจ้าย่อมหมายถึงการไม่กลับมา ไม่เกิดอีก

ในประเทศพม่า ความแตกต่างของปางไสยาสน์กับปางปรินิพพาน สังเกตจาการซ้อนกันของพระบาท หากเป็นปางปรินิพพานพระบาททั้งสองข้างจะซ้อนกันโดยตรง

ประการสำคัญของปางปรินิพพานก็คือ คำเทศนาครั้งสุดท้าย อันเป็นสัญลักษณ์คำสัญญาของการปฏิบัติตนและปฏิบัติบูชาของพุทธศาสนา สรุปได้คือ

1.ในธรรมวินัยใดที่ไม่มี อริยมรรคประ กอบด้วยองค์ 8 แล้วย่อมไม่มีผู้รู้จริง รู้แจ้ง โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ เมื่อการรู้จริงรู้แจ้งอริยมรรคยังมีอยู่

2.ธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้ว จะเป็นศาสดาแก่พุทธศาสนิกชน

3.และคำตรัสครั้งสุดท้ายก็คือ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน