“หลวงปู่เย่อ โฆสโก” หรือ พระครูสังฆวุฒาจารย์ พระเกจิดัง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เป็นพระเชื้อสายรามัญที่มีชื่อเสียง

นามเดิม คือ ไพทูรย์ (เย่อ) กงเพ็ชร์ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ค.2431 ที่บ้านทมัง ต.ตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ บิดามารดาเป็นชาวรามัญที่เคร่งครัดต่อพระพุทธศาสนา

ช่วงวัยเยาว์ บิดาพาไปทำบุญที่วัดด้วย ทำให้เลื่อมใสต่อบวรพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้น เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2444 ท่านมีอายุ 13 ปี ได้บรรพชาที่วัดอาษาสงคราม มีพระมหาขันธ์ เป็นอุปัชฌาย์

หลังจากนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัยทั้งไทยและรามัญจนมีความชำนาญ โดยเฉพาะอักขระขอมรามัญ จึงทำให้ท่านสามารถค้นคว้าตำราและพระคัมภีร์ต่างๆ ของรามัญได้อย่างกว้างขวาง เกิดความรอบรู้ทั้งทางปริยัติธรรมและวิชาแขนงต่างๆ ทางพุทธศาสนา ตลอดจนวิชาการแพทย์ตามแบบโบราณสมัยไว้ช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านอีกด้วย

อายุครบ 20 ปี วันที่ 16 มี.ค.2451 เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดพญาปราบปัจจามิตร มีพระอธิการทอง วัดโมกข์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเกลี้ยง วัดพญาปราบปัจจามิตร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระธรรมวิสารธะ วัดโมกข์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า โฆสโก แปลว่า ผู้มีเสียงก้อง

มุ่งมั่นศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ มีความรู้แตกฉานจนจบโดยเฉพาะบาลีแบบรามัญ แต่ยังไม่ทันได้สอบ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีบัญชาให้เลิกการสอบแบบปากเปล่า และทรงยกเลิกการสอบแบบปากเปล่าทั้งทางบาลีไทย ให้สอบโดยการขีดเขียนแทน แบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

หลังจากนั้น ท่านมุ่งศึกษาทางปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราภาษารามัญจนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี ก่อนแสวงหาอาจารย์ผู้ทรงคุณในทางปฏิบัติ ท่านจึงเดินทางไปศึกษากับหลวงพ่อหลิม วัดทุ่งบางมด (วัดทุ่งโพธิ์ทอง) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่มีความสามารถทางวิปัสสนาสูง และเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญวิทยาคม

หลวงปู่เย่อขอศึกษาวิปัสสนากับหลวงพ่อหลิม จนหลวงพ่อหลิมออกปากชมว่าหลวงปู่เย่อมีความพากเพียรพยายามดีมาก ซึ่งในสมัยนั้นการเดินทางจากพระประแดงไปวัดทุ่งบางมดจะต้องใช้เรือแจวไป กว่าจะถึงใช้เวลานานหลายชั่วโมง

เมื่อสำเร็จทางวิปัสสนา หลวงพ่อหลิมซึ่งมีความเมตตาหลวงปู่เย่อ จึงให้เรียนวิชาวิทยาคม จนหลวงปู่เย่อเกิดความชำนาญสามารถทำเครื่องรางของขลังที่ได้เรียนมาใช้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ

หลังจากนั้น ท่านไปขอศึกษาวิชาจากพระอาจารย์กินรี วัดบ้านเชียงใหม่ และพระอาจารย์พันธ์ วัดสะกา ซึ่งทั้ง 2 ท่านเป็นเถราจารย์ชาวรามัญที่มีความแก่กล้าทางวิทยาคม

หลวงปู่เย่อได้ขอศึกษาสืบต่อวิชาจากท่านอาจารย์ทั้งสองนี้ไว้จนจบสิ้น นับว่าท่านมีความเพียรสูง เพราะการศึกษามิใช่เรื่องง่ายๆ จะต้องใช้พลังจิตตั้งใจมากจึงจะสำเร็จ จากนั้นมาท่านเฝ้าเพียรฝึกฝนวิปัสสนาอย่างสม่ำเสมอ ค้นคว้าตำรับตำราของรามัญเก่าๆ ที่มีอย่างเงียบเพียงลำพัง มิได้แสดงตนให้ผู้ใดทราบ ด้วยหลวงปู่เป็นผู้มีความมักน้อย ถ่อมตนอยู่เป็นนิสัย

หลวงปู่เย่อนับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม มีความกรุณาต่อทุกคนที่ไปกราบไหว้ท่านโดยเสมอหน้ากัน ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ดี เจรจาปราศรัยด้วยความเป็นกันเอง และ ไม่เคยอวดอ้างความเก่งกล้าใดๆ ให้ใครรู้เห็น มีแต่คอยสั่งสอนอบรมศีลธรรมแก่ทุกๆ คนที่ไปหา ให้หมั่นทำคุณงามความดี

ต่อมาปี พ.ศ.2518 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ “พัดยศสีขาวฝ่ายวิปัสสนา” ในราชทินนามที่ พระครูสังฆวุฒาจารย์

วัตถุมงคลของหลวงปู่เย่อที่ได้รับความนิยมจากบรรดาเซียนพระ มีหลากหลายชนิด อาทิ พระปิดตา รูปหล่อ พระผงหลวงพ่อโต เหรียญซึ่งมีทั้งหมด 4 รุ่น วัตถุมงคลของท่านสร้างด้วยความพิถีพิถันเป็นพิเศษทุกขั้นตอน สร้างด้วยความตั้งใจจริง มิได้สร้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์

มีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 94 ปี และมรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2524

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน