คอลัมน์ วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

หากอ่าน อัตตประวัติ ของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) จะประจักษ์ในสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับถ้ำพระงาม จังหวัดลพบุรี

ด้วยในปีชวด พ.ศ.2455 เป็นปีกึ่ง 5,000 แห่งพุทธกาลนับแต่วันตรัสรู้

ควรเราผู้เป็นปัจฉิมสาวกจะสร้างเจติยสถานจารึกไว้เป็นที่ระลึกอย่างสำคัญสักชิ้นหนึ่ง อันนี้เป็นความคิดเดิมคิดมาได้ 5 ปี

ครั้นฉลองสมโภชพระประธานในเดือน 7 กลางเดือนเสร็จแล้ว ได้พาพระครูปลัดอ่ำออกไปเที่ยวแขวงเมืองลพบุรี เพราะเป็นตำบลมีถ้ำมีเขามาก จึงไปได้ถ้ำเขาบ่องามที่สร้างวัดสิริจันทรนิมิตร์อยู่บัดนี้ ว่างไม่มีพระสงฆ์ไปอาศัยและเป็นสถานที่ชอบใจอันเป็นมงคลสถาน

ปากถ้ำมันเป็นเงื้อมเป็นปากมังกร ผินหน้าสู่ทิศตะวันออก เวลาบ่ายได้รับเงาภูเขาเย็นสบายดี เชื่อว่าในบริเวณตรงหน้ามังกรนี้คงจะมีความเจริญสืบไปเบื้องหน้า เวลานี้ก็เงียบสงัดดีห่างหมู่บ้านประมาณ 10 เส้น

“พอไปบิณฑบาตมาฉันได้ ก็ตกลงจับที่เป็นเจ้าของถ้ำทีเดียว”

นั่นคือกำเนิดแห่ง วัดสิริจันทรนิมิตร์ อันเป็นนามพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปเมื่อปี พ.ศ.2466 ในพิธีผูกพัทธสีมา

มีความหมายแนบแน่นอยู่กับ “สิริจันโท จันทร์” อย่างเห็นได้ชัด

หนังสือ ชีวประวัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์ สำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ บอกให้รู้ว่า

อยู่มาวันหนึ่ง ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้มาเที่ยวที่เขาพระงาม ลพบุรี ซึ่งท่านชอบสถานที่นี้มากจนภายหลังท่านได้สร้างพระใหญ่ หน้าตักกว้างถึง 12 วากว่า

และวันนั้นเป็นวันที่ ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้มาที่เขาพระงามตามปกติ

ซึ่งขณะนั้น ท่านอาจารย์มั่น ก็ได้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้นเหมือนกัน เมื่อได้ทราบว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ มาท่านก็ไปนมัสการและได้สนทนาปราศรัยตามปกติ

เมื่อได้สนทนาเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว ท่านอาจารย์มั่น ก็ได้ถามขึ้นว่า

เมื่อคืนวันขึ้น 10 ค่ำที่แล้วคือเดือน 8 นั้น ท่านเจ้าคุณนั่งสมาธิอยู่ที่ศาลาเหลือง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 23.00 น. ได้พิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาททวนกลับไปกลับมาแล้วเกิดความสงสัยขึ้นมาตอนหนึ่ง ใช่ไหมครับ

ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เมื่อได้ฟังคำถามเช่นนั้นถึงกับตกตะลึง

ไม่นึกเลยว่า ท่านอาจารย์มั่น ท่านจะมาล่วงรู้ถึงการพิจารณาของเราที่ได้พิจารณาด้วยตัวเองโดยมิได้บอกให้ใครรู้เลย

ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ จึงพูดถามอาจารย์มั่นว่า

“ก็ท่านอาจารย์ว่า อย่างไรเล่าที่ผมสงสัยอธิบายให้ผมฟังบ้างได้ไหม”

ท่านอาจารย์มั่น จึงตอบว่า “ได้”

หากนำเอารายละเอียดจากหนังสือ อัตตโนประวัติ ของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) ประสานกับรายละเอียดจากหนังสือ “รำลึกวันวาน” ของ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ก็จะทำให้เรื่องราวและความสัมพันธ์เหล่านี้กระจ่างขึ้น

1 เพราะวัดเขาพระงามเป็นดำริและการลงมือของ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) ตั้งแต่ยังเป็น พระญาณรักขิต ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2455 ถึงกับได้ขอนิมิตต่อ “เทวนิกาย”

“ในคืนวันนั้นจวนสว่างนิมิตไปว่าได้ว่ายน้ำไปตามกระแสแม่น้ำตำบลหนึ่ง น้ำเชี่ยวเต็มทีแต่มีเสาสำหรับเกาะพักแรงไปเป็นระยะๆ ในที่สุดไปเจอโรงทหารอยู่ริมน้ำแวะเข้าไปขออาศัยขึ้น ทหารก็ใจดีให้อนุญาตจึงขึ้นไปในสนามทหาร เห็นเป็นถนนใหญ่เลยเดินเลยไป เป็นบ้านเป็นเมืองใหญ่โตในที่นั้น ก็พอตื่นพอดี”

ตื่นขึ้นมา “รำพึงถึงนิมิตจะอธิบายว่ากระไร ทำไมจึงมาเกี่ยวด้วยกองทหารแปลไม่ออก รู้แต่ว่าการคงสำเร็จตามประสงค์ ไม่มีเหตุขัดข้องก็ดีใจ”

ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามนิมิต คือ สำเร็จตามประสงค์ทุกประการ

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การเดินทางไปยังถ้ำสิงโต วัดเขาพระงาม ลพบุรี ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นไปด้วยความอุปถัมภ์จาก พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์)

เพราะไม่เพียงแต่เสนอแนะให้ไปพำนักและบำเพ็ญสมณธรรม ณ ที่นั้น หากยังช่วยจัดการในเรื่องตั๋วรถไฟให้อีกด้วย

กระนั้น ความน่าสนใจอย่างยิ่งยวดกลับเป็นรายละเอียดการสนทนาธรรมระหว่างพระเถระทั้ง 2

เป็นการอธิบายรายละเอียดในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท โดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถวายให้ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) ได้รับทราบ

เป็นรายละเอียด “ท่านเล่าว่า” ผ่านความทรงจำของ พระอาจารย์วิริยังค์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน