คอลัมน์ วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

ท่าทีและท่วงทำนองการเขียนถึงเรื่องราว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไม่ว่าจะมาจาก พระอาจารย์วิริยังค์ ไม่ว่าจะมาจาก พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ไม่ว่าจะมาจาก พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ

มีทั้งความเหมือน ขณะเดียวกัน มีทั้งความต่าง

ที่เหมือนอย่างยิ่ง คือ ความเคารพ ความศรัทธา ความเชื่อมั่น เป็นอย่างสูงต่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เพราะทั้ง 3 ล้วนเคยปฏิบัติ รับใช้ อยู่อย่างใกล้ชิด

ที่ต่างอย่างยิ่ง คือ ลีลา ท่วงทำนอง อันดำเนินไปตามวาสนาและการสั่งสมในทางการเขียนมาไม่เหมือนกัน

ขณะเดียวกัน บทสรุปต่อ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) ของทั้ง 3 ก็เช่นเดียวกัน

เพราะมุมมองไม่เหมือนกันจึงนำไปสู่ความเห็นไม่เหมือนกัน พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ถึงกับขยายความสัมพันธ์ในวัยเยาว์ขณะเป็นฆราวาสอย่างค่อนข้างโลดโผนเหมือนกับทั้งสองเป็นเพื่อนเล่นกัน

ทั้งๆ ที่คนหนึ่งเกิด พ.ศ.2399 ทั้งๆ ที่อีกคนหนึ่งเกิดพ.ศ.2413

ทั้งๆ ที่คนหนึ่งอุปสมบทกรรม เมื่อพ.ศ.2420 ทั้งๆ ที่อีกคนหนึ่งอุปสมบทกรรม เมื่อพ.ศ. 2436

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) มีส่วนอย่างสำคัญในการค้ำจุนต่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ทั้งในทางปริยัติ ทั้งในทางการปฏิบัติ

กระนั้น ในบางเงื่อนไข พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็พลิกกลับบทบาทมาเป็นด้านการสำนองตอบได้เหมือนกัน แต่กระบวนการก็ดำเนินไปในลักษณะของการแลกเปลี่ยนและศึกษาร่วมกัน

ดังคำอธิบายของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ดังนี้

ปฏิจจสมุปบาทข้อที่ว่า วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปนั้น แลในนามรูปก็มีทั้งวิญญาณและสังขาร ซึ่งมันจะมีการแตกต่างกันดังนี้คือ

สังขาร วิญญาณ ที่ต่อจากอวิชชานั้นเรียกว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรม แตกต่างกับสังขาร วิญญาณ ของนามรูป

สังขาร วิญญาณ ของนามรูปนั้น เป็นสังขาร วิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่

คือว่า สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นภาวะที่ไม่เป็นอิสระ อยู่ภายใต้อำนาจของกรรม มีวิชา (อวิชชา) เป็นหางเรือใหญ่ อาศัยสังขารการปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะเป็นแนวทางการก่อให้เกิด

ซึ่งในขณะนั้นจิตเป็นประธาน อาศัยสังขารปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขารกรรม วิญญาณกรรม

ทั้ง 2 นั้นสืบเนื่องมาจากจิต ณ ที่นี้จึงแล้วแต่กรรมจะจำแนกไป คือให้สังขารและวิญญาณนั้นเห็นดีไป เมื่อเห็นดีไปอย่างไรจิตก็จะไปตั้งก่อให้เกิดไปตามนั้น เพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ

ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้สึกมันละเอียดและจะพึงรู้จริงได้ คือ เมื่อจิตได้ดำเนินตามอริยสัจแล้วเป็นวิปัสสนาอันแก่กล้าแล้วทีเดียว

ที่กระผมได้อธิบายมานี้เป็นสักแต่แนวทางเท่านั้น ตามความเป็นจริงต้องมีตาภายในคือกระแสจิต กระแสธรรม เท่านั้นที่จะเข้าไปรู้จริงได้

เมื่อท่านเจ้าคุณคุณอุบาลีฯ ได้ฟังดังนั้น ก็ถึงกับอุทานขึ้นว่า

“อ้อ เราเข้าใจแล้ว ท่านอาจารย์รู้ใจผมได้ดีมาก และถูกต้องทุกประการ และแก้สงสัยให้ผมได้ราวกับปลิดทิ้ง ผมพยายามพิจารณาเรื่องนี้มานานแต่ยังไม่แจ่มแจ้ง เพิ่งจะแจ่มแจ้งในเวลานี้เอง”

หลังจากนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้เดินทางกลับไปกรุงเทพฯ อยู่ที่วัดบรมนิวาสนั้นท่านเจ้าคุณก็ได้ประกาศความดีของท่านอาจารย์มั่นให้แก่พระภิกษุสามเณรทั้งหลายฟังว่า

“ท่านอาจารย์มั่นเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่มีความสามารถที่สุดในยุคนี้ ถ้าใครต้องการจะศึกษาธรรมปฏิบัติแล้วจงไปศึกษากับท่านอาจารย์มั่นเถิด เธอทั้งหลายจะได้ความรู้จากธรรมปฏิบัติอันลึกซึ้งจากท่านอาจารย์มั่น”

ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้กล่าวเช่นนี้กับภิกษุสามเณรทั้งหลายอยู่เสมอๆ ทำให้พระภิกษุสามเณรผู้ใคร่การปฏิบัติธรรมสนใจในท่านอาจารย์มั่นมากขึ้น

ต่างก็ต้องการจะไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่าน

ทั้งหมดนี้ พระอาจารย์วิริยังค์ อาจยกย่องบทบาท พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไว้ค่อนข้างสูง

แต่ก็เป็นความจริงที่ พระอุบาลคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ต่างมีส่วนในการให้การศึกษา ช่วยเหลือต่อกันและกันสมกับเป็นกัลยาณมิตร

เป็นกัลยาณมิตรในทางปริยัติ เป็นกัลยาณมิตรในทางการปฏิบัติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน